ประกันภัย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย สะกดไทม์ไลน์ โบรกเกอร์เถื่อนขายประกันสัตว์เลี้ยง ประกันสุขภาพ เบี้ยวเคลมเชิดเบี้ยประกัน
11 กันยายน 2566 : นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ เลขาธิการสมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ คำเกิด ประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ และนางสาวกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารอาวุโส สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมในการชี้แจงถึงการดำเนินการของสมาคมฯ ถึงประเด็นปัญหาและผลกบระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีที่มีกลุ่มบุคคล/บริษัทต่างชาติ ขายประกันภัยในประเทศไทย ทั้งประกันภัยสัตว์เลี้ยง และประกันภัยสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
นายประสิทธิ์ อธิบายว่า ทางสมาคมฯ ได้ไปตามสืบค้นว่าบริษัทฯ ที่รับประกันภัยนี้ทางบริษัทแจ้งว่า รับประกันสุขภาพเท่านั้น และเป็นบริษัทต่างชาติ แต่เมื่อปี 2565 บริษัทฯประเทศสิงคโปร์ มาเสนอโปรดักส์ประกันสุขภาพ จึงมีการแตกไลน์ให้คนไทยขายประกันสัตว์เลี้ยง สุนัข-แมว ซึ่งริเริ่มตั้งแต่มิถุนายน และขายจริงจังในเดือนกรกฎาคม 2565
โดยในกระบวนการนี้ ขอสมมุตตัวละครมี 3 ฝ่าย ทั้งชาวต่างชาติและคนไทย คือ T1, T2 และ T3 โดยคนไทย ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสินไหมทดแทน ในเบื้องต้นมีผู้ทำประกันภัยจำนวน 4,000 ฉบับ (เป็นตัวเลขที่ไม่แน่ชัดเนื่องจากสุ่มประเมินจากผู้ที่เสียหาย) คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 20 ล้านบาท เนื่องจากไม่ยุ่งยากต่อการทำประกัน ไม่ดูรายละเอียดของสัตว์มากมายนัก เช่น ให้ชี้แจงเพียงแค่พันธ์ุของสุนัข และอายุเท่านั้น และที่น่าสังเกตุคือ คนไทยที่ดำเนินการในประเทศไทยนั้น มีนามสกุลดัง และเป็นลูกเจ้าของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นผู้การันตีและให้ความสนับสนุนบริษัทดังกล่าว
โดยมีการคิดอัตราเบี้ยประกัน 3 แบบ ได้แก่ อัตรา 2,500 บาท 4,900 และสูงสุด 7,500 บาท โดยซื้อผ่านช่องทางเว็ปไซต์ ชำระผ่านบัตรเครดิต เงินก็จะโอนไปยังประเทศอังกฤษ แต่หากชำระเงินสด ทางบริษัทฯ คนไทยก็รับชำระเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีผู้ถือหุ้น 3 คน ชื่อเดียวกันกับที่จัดห้างหุ้นส่วนที่ประเทศอังกฤษ แต่บริษัทนี้ไม่ได้มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าในประเทศไทย ขณะนี้ปิดรับประกันภัยแล้ว ซึ่งกรมธรรม์ฉบับสุดท้ายคาดว่าหมดอายุเดือนมิถุนายน 2567
โดยหลังจากนั้นเรื่องมาเกิดว่าเคลมไม่ได้ประมาณเดือน พฤษภาคม 2566 ซึ่งช่วงแรกก็มีการจ่ายสินไหมทดแทนอย่างต่อเนื่อง วิธีการคือนำสัตว์เข้าไปรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หลังจากนั้นให้นำใบเสร็จมาเบิกค่ารักษาพยาบาลกับ T3 เพื่อพิจารณาจ่ายเงินต่อไป ซึ่งในช่วงแรกก็มีการจ่ายสินไหมอย่างต่อเนื่องไม่ได้มีปัญหา จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2566 จำนวนการเคลมสูงมากจนผิดสังเกตุว่า ทำประกันสุขนัขเพียงตัวเดียวแต่เคลมบ่อยครั้ง ทาง T3 จีงตรวจสอบและขอให้เจ้าของสุนัขส่งเอกสารเพิ่มเติม
นางสาวกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารอาวุโส สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย อธิบายว่า ทางสมาคมฯ ได้ติดตามตรวจสอบไปยังหน่วยงานกำกับทางประเทศอังกฤษ ว่าบริษัทดังกล่าวมีตัวตนหรือไม่ เนื่องจากทางบริษัทฯ แจ้งว่า ส่งงานให้กับบริษัทประกันภัยต่อด้วย แต่ทางหน่วยงานกำกับของประเทศอังกฤษแจ้งกลับมาว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีใบนุญาตประกอบธุรกิจรับประกันหรือนายหน้าแต่อย่างใด แต่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน และมีชื่อของคนไทยร่วมหุ้นด้วย 2-3 คน พำนักอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ 1 คน ส่วนอีก 2 คนอยู่ประเทศไทย โดยทางประเทศไทยมีหน้าที่รับบริการด้านสินไหมทดแทน โดยทางชาวต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่ที่อังกฤษจะทำหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทน
"ต่อมาระยะหลังมีจำนวนเคลมมากขึ้น เริ่มจ่ายเคลมล่าช้าและไม่จ่ายสินไหมทดแทน จนมีผู้เสียหายร้องเรียนจำนวนมากจนทำให้สมาคมประกันวินาศภัย จึงต้องเร่งดำเนินการติดตาม และเรื่องดังกล่าวรายละเอียดต่างๆ ได้ส่งเรื่องทั้งหมดต่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการป้องกัน ป้องปรามบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงหลอกชาวต่างชาติให้ซื้อประกันสุขภาพ เพื่อเอื้อต่อการมีวีซ่า อยู่ในประเทศไทยได้ระยะยาวมากขึ้นด้วย "นางสาวกัลยา กล่าว
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับซีเคว้ล ออนไลน์
X