ข่าวการเงิน
เพิ่มมิติแผนเกษียณด้วย Design Thinking
บทความโดย “ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมและวางแผนการเงินไทย
สำหรับแนวคิดแบบ Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบนั้น เป็นแนวความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาในลักษณะที่เป็น Human-Centered Design หรือเป็นปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในมากมายในการวางแผนพัฒนาธุรกิจ ออกแบบผลิตภัณฑ์
รวมถึงการวางแผนในชีวิตส่วนบุคคล หากได้ลองนำวิธีคิด (Mindset) ของ Design Thinking มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเกษียณก็อาจช่วยให้ตอบโจทย์ความต้องการของบุคคลได้ดียิ่งขึ้น เพราะ Design Thinking เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ “อนาคต”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อนสำหรับชีวิตของเราทุกคน ซึ่งบางครั้งการเก็บเงินเพื่อการเกษียณเพื่อรอไปใช้ชีวิตหลังจากสิ้นสุดการทำงานอาจทำให้เราไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายเหล่านั้นเป็นชีวิตที่เราต้องการจริงหรือไม่
ดังนั้นหากได้ลิ้มลองประสบการณ์ที่ตัวเองต้องการ ด้วยวิธีคิดต่าง ๆ จากหลักการ Design Thinking มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณได้ก็เป็นสิ่งที่จะตอบสนองประสบการณ์ในวัยเกษียณได้ดีขึ้น
สิ่งสำคัญของ Design Thinking คือ วิธีการที่เรียกว่า IterativeProcess นั่นคือ กระบวนการทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ตามกระบวนการขั้นตอนดังต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายละเอียด แง่มุมในแผนเกษียณของแต่ละท่านได้มากขึ้น ทำได้ด้วยประยุกต์หลักการดัง 3 อย่างดังนี้
การเข้าใจอย่างลึกซึ้งและกำหนดปัญหา
1. การเข้าใจอย่างลึกซึ้งและกำหนดปัญหา (Empathize & Define Problem) สำหรับขั้นตอนนี้เป็นการทำความเข้าใจปัญหา ทำความเข้าใจความต้องการตนเองว่า เกษียณแล้วต้องการใช้ชีวิตแบบไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร
โดยอาจเริ่มพิจารณาจาก (1) ด้านรายได้ ส่วนใหญ่เมื่อเข้าถึงวัยเกษียณจะมีรายได้ลดน้อยลง อาจต้องเริ่มพิจารณาว่า ผลกระทบจากการมีรายได้ที่น้อยลงอาจทำให้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้เงิน (2) ด้านรายจ่าย พิจารณาไล่เรียงไปตามปัจจัยสี่ อาจต้องมีรายจ่ายบางอย่างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ด้านการปรับปรุงบ้านที่ต้องเหมาะสมกับวัยที่ต้องมีความปลอดภัยมากขึ้น มีอุปกรณ์ที่เสริมอำนวยความสะดวกในการใช้ห้องน้ำ ห้องนอน เป็นต้น
การระบุปัญหาให้ได้ว่า รายได้จะลดลงเป็นเท่าใด ไลฟ์สไตล์ที่ต้องการนั้นใช้เงินเท่าใด ตั้งโจทย์ขั้นมาให้ชัดเจน แล้วต้องสรุปว่าจะกำหนดแนวทางอย่างไร เช่น สรุปว่าต้องหารายได้เพิ่ม โดยมีเงื่อนไขการใช้เวลาและพลังงานในแต่ละวันให้เหมาะสมกับร่างกายและจิตใจ หรือการระบุให้ได้ว่ารายจ่ายรายการใดที่จะต้องลดลงเพื่อทำให้มีฐานะทางการเงินมั่นคงได้ในระยะยาว เป็นต้น
การสร้างสรรค์ไอเดีย
2. การสร้างสรรค์ไอเดีย (Ideate) เป็นการคิด โดยอาจตั้งคำถามว่าเมื่อเกษียณแล้วสามารถทำอย่างไรได้บ้างที่จะมีชีวิตอย่างเติมเต็ม ภายใต้เป้าหมายและข้อจำกัดในขั้นตอนก่อนหน้านี้ โดยอาจจะสร้างทางเลือกไว้อย่างน้อย 3 ทางเลือก เพื่อที่จะพิจารณาข้อดี ข้อเสียในแต่ละทางเลือก
ตัวอย่างการแก้ปัญหาการเกษียณจากต่างประเทศ ในกรณีที่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ อาจทำได้ด้วยการจัดการทรัพย์สินเพื่อเพิ่มรายได้ในการเกษียณ โดยอาจจะขายบ้านหลังใหญ่เพื่อนำเงินไปซื้อบ้านหลังเล็กลง (Downsizing) เพื่อที่จะประหยัดค่าส่วนกลาง
หรือค่าบำรุงรักษา และบ้านที่อยู่อาศัยที่เล็กลงนี้ก็สามารถที่จะเลือกว่าจะเลือกซื้อ เลือกเช่า หรือเลือกไปอยู่ บ้านพักผู้สูงอายุ ที่เหมาะสมกับแต่ละท่าน โดยสร้างสามารถสร้างตาราง ลิสต์ประเด็นต่าง ๆ ขั้นมาหรือจะทำความเข้าใจความต้องการของตนเอง และเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนทางการเงิน และประโยชน์ที่จะได้รับจากทางเลือกนั้น ๆ
บางครั้งไอเดียใหม่ ๆ ไม่เกิดถ้าบังคับให้คิด ต้องคอยสังเกต หลักการคือต้องสร้างทางเลือกเยอะ ๆ (Divergent Thinking) ก่อนแล้วจากนั้นวิเคราะห์ทางเลือก (Convergent Thinking) เพื่อตัดสินใจเลือก
การทดลองสร้างแบบจำลองและทดสอบ
3. การทดลองสร้างแบบจำลองและทดสอบ (Prototype & Test) ขั้นตอนสร้างแบบจำลอง และทดสอบ หาเวลาทดลองใช้ชีวิตในรูปแบบการเกษียณที่ต้องการเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองให้ได้ตรงจุด โดยบางท่านอาจมีความประทับใจในการใช้ชีวิตในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ตัวเองชื่นชอบ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจมีประเด็นปัญหาอะไรต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่
เช่น ข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ความสะดวกสบายในการเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเนื่องจากหากพิจารณาว่ามีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ แต่ก็อาจจะทำให้ชีวิตไม่ได้รับความสะดวกสบาย ลงมือทดสอบชีวิตใช้ที่ต้องการใช้ ชีวิตในแบบที่เกษียณแล้ว
เช่น การไปใช้ชีวิตอยู่ใน Home Stay เพื่อที่จะสามารถเข้าใจความรู้สึก เข้าใจบทบาทการที่ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพื่อเรียนรู้ว่าเราสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างดีมีความสุขในรูปแบบใด สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือได้รู้ Feedback เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคำตอบสำหรับการเกษียณของตัวเอง
สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือในกระบวนการ Design Thinking ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือกระบวนการทำซ้ำหลาย ๆ รอบ (Iterative Process) โดยแต่ละรอบสามารถที่จะพัฒนาปรับปรุงให้ตอบสนองความต้องการได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเรากำลังสร้างทางที่เดินไปข้างหน้าในทุก ๆ วัน
X