ข่าวการเงิน
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปี 2566
มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีลูกน้อยลง
ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มอยู่ตามลำพัง จะต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น
ใครเคยคิดหรือไม่
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณเป็นผู้สูงอายุจะมีชีวิตการเป็นอยู่อย่างไร
หากไม่มีเงินออมเพียงพอยังชีพ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย
เพราะเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐไม่น่าเพียงพอ
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หรือบางคนคิดว่าในช่วงอายุ 60-80 ปี
ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 2 ล้านบาท ก็น่าจะดูแลตัวเองได้
อาจจะไม่ใช่ในยุคนี้
ปรากฏการณ์ “แก่ไร้เงินออม” ในสังคมไทย
และต้องพึ่งเบี้ยผู้สูงอายุจากรัฐบาลที่เป็นมาตรการเชิงรับใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแล
อาจไม่ใช่ทางออกในอนาคตอีกต่อไป
และหนึ่งในทางออกจะต้องส่งเสริมให้คนไทยด้วยมาตรการเชิงรุก “แก่ดีมีออม”
ดูแลตนเองได้ยามเกษียณ
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะอายุยืนมากขึ้น
จะได้ไม่ประสบปัญหา “แก่ไปไร้เงินออม” แบบเดียวกับคนแก่ในปัจจุบัน
อคติพฤติกรรมคน อุปสรรคออมเงิน ไม่พอใช้ตอนแก่
จากข้อเสนอของ “วราวิชญ์
โปตระนันทน์” นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม
เป็นความเปราะบางมากๆ ในสังคมไทย
จึงต้องหามาตรการเชิงรุกในการออมเงินในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต
และที่น่าตกใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนรุ่นใหม่อายุ 20-40 ปี ในปี 2563
จำนวน 1,043 คน พบว่า 30% ไม่คิดวางแผนหรือไม่ลงมือทำในการออมเงิน
เมื่อรวมคนที่ไม่ทำเลยพบว่า 84% ไม่มีเงินเพียงพอตอนเกษียณ
จึงหามาตรการควรทำอย่างไรจากการศึกษามานาน ทั้งเรื่องรายได้
การเข้าถึงช่องทางการออม หรือความรู้ทางการเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน
พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีระดับรายได้และความรู้เพียงพอสูงกว่าคนรุ่นเก่า
แต่กลับมีอคติเชิงพฤติกรรมด้านจิตวิทยาก่อให้เกิดความเปราะบางทางการเงิน
จนส่งผลต่อการออมเงิน
อคติเชิงพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีอย่างน้อย 4 ประเภท
ทำให้ไม่พร้อมทางการเงินยามเกษียณ 1. อคติโลกแคบ มองแบบสั้นๆ แคบๆ
มองไม่ถึงว่าภาพอนาคตจะเป็นอย่างไร 2. อคติชอบปัจจุบัน
อาจรู้อยู่แล้วต้องใช้เงินในยามเกษียณ แต่มีสิ่งล่อตาล่อใจใช้จ่ายเกินตัว
เพื่อความสุขในวันนี้ 3. อคติละเลยอัตราทบต้น ออมน้อย
กู้เยอะละเลยดอกเบี้ยทบต้นที่สามารถทำให้ผลประโยชน์ในตอนท้ายสูง
หากออมต่อเนื่องนานๆ และ 4. อคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน
ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงยึดติดกับเงินออมในธนาคาร
ไม่ลงทุนในสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคยแม้จะได้ผลตอบแทนมากกว่า
มาตรการกระตุ้นการออม ให้ถูกจุดกับพฤติกรรมคน
จากการทบทวนงานวิจัยในอดีตหลายชิ้นในช่วง 2
ปีพบว่ามีมาตรการคาดว่าจะส่งเสริมการออมโดยใช้ประโยชน์จากอคติเชิงพฤติกรรม
1. สะกิดด้วยข้อมูล
ให้เห็นความสำคัญของการออมอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้เงินเติบโตขึ้นมหาศาลจากอัตราดอกเบี้ยทบต้น
2. การตั้งอัตราการออมเริ่มต้น
เสนอว่าควรจะออมกี่เปอร์เซ็นต์ต่อรายได้ต่อเดือน
ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในยามเกษียณ ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ 3.
การออมแบบกึ่งบังคับ ให้ออมเงินในอัตราที่กำหนดต่อเดือน หรือ 20%
แต่สามารถเลือกได้อาจไม่ออมในอัตรานั้นก็ได้
เป็นการแก้ไขอคติโลกแคบสำหรับคนที่คิดมาก เพื่อให้เกิดการออมโดยไม่รู้ตัว
และ 4. การออมผ่านการใช้จ่ายหรือการหักเงินมาออมทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย
เพราะคนเข้าใจว่ามีรายได้ก็ต้องใช้จ่ายในการซื้อของ เช่น ถ้าซื้อสินค้าราคา
95 บาท แต่หักเงินเป็น 100 บาท โดยเศษเงินส่วนเกิน 5 บาทจะโอนเข้าบัญชีออม
โดยธนาคารบางแห่งในไทยเริ่มใช้มาตรการลักษณะนี้แล้วและพบว่าได้ผลพอควรโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุไม่มาก
เมื่อใช้จ่ายทุกวันก็มีเงินออมทุกคนอย่างสุภาษิตที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท”
ที่ผ่านมามีการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในวัยทำงานด้วยการเล่นเกมจัดสรรเงินบนคอมพิวเตอร์
ว่ามีรายได้ต่อเดือนจะจัดสรรการใช้จ่ายกี่บาท ภายใต้มาตรการเหล่านี้
และเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช้มาตรการ ซึ่งผลปรากฏว่ามี 2
มาตรการในการตั้งอัตราการออมเริ่มต้น และการออมกึ่งบังคับ
ได้ผลดีโดยเฉพาะกับกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงินมากๆ
หากไม่กระตุ้นไม่บังคับจะปล่อยผ่าน จนสุดท้ายทำให้รู้ว่าทำไมเก็บออมได้
ซึ่งในไทยมีอยู่บ้างในบริษัทเอกชน
แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน มีเพียง 50% เข้าถึงประกันสังคมมาตรา 39
และมาตรา 40 จากอคติเชิงพฤติกรรม
หากนำมาตรการเหล่านี้มาใช้น่าจะทำให้แรงงานนอกระบบสามารถออมเงินได้มากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระมีรายได้ไม่แน่นอน ในการใช้มาตรการออมกึ่งบังคับ
ขณะที่การสะกิดด้วยข้อมูล ได้ผลสำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคม
มีรายได้ประจำและมีความพร้อมในการออม อาจต้องใช้ข้อความสะกิดที่หลากหลาย
อธิบายประโยชน์ของการออมเรื่องการได้รับดอกเบี้ย
ส่วนการออมผ่านการใช้จ่าย ได้ผลดีกับผู้มีรายได้น้อย ออมน้อย
และคนรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายเป็นประจำ
เนื่องจากการออมผ่านการปัดเศษในขณะใช้จ่าย
เจ้าตัวไม่ต้องชั่งใจมากนักว่าจะออมหรือไม่ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็น
“ดาบสองคม” ไปเพิ่มความชะล่าใจในการใช้จ่ายอย่างเต็มที่
เพราะรู้สึกว่ามีการออมทุกการใช้จ่ายอยู่แล้ว
และการออมลักษณะนี้อาจจะไม่มากพอสำหรับการเกษียณ
แต่ช่วยเปิดประตูให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นการออมเท่านั้น
“แก่ดีมีออม” ให้มีคุณภาพและศักดิ์ศรี ไม่ต้องพึ่งพารัฐ
มาตรการส่งเสริมการออมจะต้องมีการออกแบบระบบบัญชี เพื่อการเกษียณส่วนบุคคล
ให้รู้ว่าออมเงินแล้วไปไหนสำหรับแรงงานในระบบ
และควรมีลักษณะพิเศษไม่สามารถถอนได้ง่ายเท่ากับบัญชีปกติ
อาจรวมถึงข้อมูลสินทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน หลักทรัพย์
น่าจะได้ผลในการยกระดับสำนึกต่อการออม
และน่าจะกระตุ้นให้ผู้ออมอยากเพิ่มการออมของตนเองให้เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ
ข้อเสนอเหล่านี้คาดหวังจะได้รับการพิจารณาจากภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการออม
และภาคเอกชนต้องปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อกระตุ้นจูงใจในการออม
เป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมการไปสู่ “แก่ดีมีออม” ของประชากรไทย
เพื่อยกระดับชีวิตท่ามกลางสังคมอายุยืนให้มีคุณภาพและศักดิ์ศรี
ไม่ต้องพึ่งพารัฐ เพราะทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต้องมองให้ยาวถึงวันตาย
และทุกหน่วยงานจะต้องทำอย่างไรให้คนหลุดพ้นจากการก่อหนี้และมีรายได้เสริม
เพื่อจะได้มีเงินออม
“ในวัยเกษียณต้องมีเงินอย่างน้อย 7.5 ล้านบาท แต่บางคนมองว่ามี 1-2
ล้านบาทก็พอ เพราะมีทรัพย์สิน บ้านที่ดินแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่
หรือคนออมทองไม่ใช่ไม่ดี ควรไปลงทุนอย่างอื่นด้วย อย่ากลัวจากอคติ
และแรงงานนอกระบบหากพัฒนาด้านทักษะ ก็สามารถเป็นแรงงานในระบบได้
อย่าหวังจากการซื้อหวย ก็เป็นการใช้จ่ายอยู่ดี
เปอร์เซ็นต์ถูกรางวัลก็น้อยมาก เป็นอีกสาเหตุทำให้ไม่ออมเงิน
อย่ารอให้เกิดปัญหา จะต้องแก้สมการให้ได้
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ปรับทัศนคติในการออมเงิน จะได้ไม่ลำบากในวัยเกษียณ”.
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
25/06/2024
30/04/2024