ข่าวการเงิน

“เหตุผล” ที่ต้องจัดการ ความเสี่ยงด้านการลงทุน


คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions (ABS)

ทฤษฎีของการลงทุนนั้น สามารถตีความหมายออกเป็นคำพูดง่าย ๆ ว่าความเสี่ยงในการลงทุนก็คือ การที่ “อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนนั้นจะได้รับจริง (actual return)” ได้คลาดเคลื่อน, เบี่ยงเบน หรือแตกต่างไปจาก อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนนั้นคาดหวังว่าจะได้รับ (expected return)

ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ลงทุนจะขาดทุน หรือได้กำไร ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงทั้งนั้น เพราะความคลาดเคลื่อนนี้จะทำให้ผู้ลงทุนนั้นวางแผนการลงทุนในอนาคตได้ยาก เช่น อาจจัดสรร หรือแบ่งเงินลงทุนมากเกินไป ในหลักทรัพย์ที่มี expected return สูง แต่กลับมี actual return ต่ำ

ในขณะเดียวกัน กลับจัดสรรเงินไปลงทุน “น้อยไป” ในหลักทรัพย์ที่มี expected return ต่ำ แต่กลับมี actual return สูง และอาจส่งผลให้ผลตอบแทนรวม (total return) ที่ผู้ลงทุนควรจะได้รับน้อยกว่าที่ควร ผู้ลงทุนที่ชาญฉลาดจึงควรจะได้รู้จักกับ “ความเสี่ยง” ในการลงทุน เพื่อที่จะได้วางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความเสี่ยงน้อย หมายความว่า การคาดการณ์ expected return จากการลงทุนน่าจะมีความผิดพลาดน้อย”

“ความเสี่ยงมาก หมายความว่า การคาดการณ์ expected return จากการลงทุนอาจจะผิดพลาดได้มาก”

ความสัมพันธ์ของความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการลงทุน ระดับผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินใด ๆ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับระดับความเสี่ยง กล่าวคือ หากระดับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงขึ้น ระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนพึงแบกรับจากการลงทุนนั้นจะสูงขึ้นด้วยเสมอ

หลายคนคงเคยได้ยินอยู่แล้วว่า “high risk high return” ทำให้บางคนไปตีความหมายผิด ๆ ว่าถ้ายิ่งลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงก็จะยิ่งได้อัตราผลตอบแทนสูง โดยเราจะย้ำอยู่เสมอว่า

– การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูง มักจะมีระดับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน

– แต่การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ก็ไม่จำเป็นว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอไป ถ้าหากผู้ลงทุนนั้นไม่มีความรู้ ความสามารถในการลงทุน หรือไม่มีดุลพินิจที่ดีพอ และไม่มีความรอบคอบเพียงพอในการเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของตน

นอกจากความสัมพันธ์ของความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว สิ่งที่น่ารู้ต่อไปคือ ความเสี่ยงในการลงทุนมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประเภทคือ

1. ความเสี่ยงที่เกิดจาก “ปัจจัยมหภาค (macrofactors)” ได้แก่ systematic risk เป็นความเสี่ยงที่เป็นระบบ มีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยรวม จึงเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่อาจขจัดให้หมดไปจากการลงทุนนั้นได้ คือถ้าตลาดโดยรวมมีสภาพที่ย่ำแย่ หรือเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้น ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

2. ความเสี่ยงที่เกิดจาก “ปัจจัยจุลภาค (microfactors)” ได้แก่ unsystematic risk หรือความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ หรือความเสี่ยงเฉพาะตัว ที่เมี่อเกิดขึ้นแล้วจะกระทบหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถขจัด หรือลดความเสี่ยงประเภทนี้ได้ โดยการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวที่พิจารณาคัดเลือกอย่างถ้วนถี่แล้ว

หากผู้ลงทุนได้กระจายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างหลักทรัพย์ในจำนวนที่มากขึ้น ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (unsystematic risk) จะลดต่ำลงตามลำดับ เพราะความเสี่ยงของแต่ละหลักทรัพย์ที่ต่างกันจะชดเชยกันเอง ทำให้ระดับความเสี่ยงรวม (total risk) ของกลุ่มหลักทรัพย์ (portfolio) ที่ลงทุนลดต่ำลงตามลำดับเช่นกัน ในที่สุดแล้วความเสี่ยงที่กระทบกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุน ก็จะคงเหลือแต่ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (systematic risk) เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น เราจึงได้ยินคนพูดกันบ่อย ๆ ว่าการกระจายความเสี่ยง (diversification) นั้นเป็นสิ่งที่ดี ถ้าทำได้ถูกต้องก็เหมือนสิ่งที่ช่วยลดต้นทุนในการจัดการความเสี่ยงได้ จนมีคนว่ากันว่า การกระจายความเสี่ยงนั้นก็เหมือนของฟรี (หรือ free lunch) ที่นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน หรือรายบุคคลนั้น ต่างต้องทำ

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-1415358

X