หุ้น

ดร.นิเวศน์ เปิด 5 กลุ่มหุ้นที่เกลียด ไม่คิดลงทุน


ดร.นิเวศน์ กูรูนักลงทุนวีไอ เปิดประสบการณ์ 5 กลุ่มหุ้นที่เกลียด ไม่คิดลงทุน ทั้ง “หุ้นโฮลดิ้งกงสี-สินค้าโภคภัณฑ์-ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี-หุ้นไม่มีเจ้าของ-มีเจ้ามือ”

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คนที่ลงทุนหรือเล่นหุ้นมานานมากนั้น ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่ามักจะมีความคิดที่ “ฝังใจ” กับหุ้นบางประเภทที่ตนเองเคยประสบ และมีประสบการณ์ที่ “ไม่ดี” ซ้ำอยู่หลายหนจนทำให้ “เข็ด” และหลังจากนั้นก็จะไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วย แม้ว่าหุ้น “ตัวใหม่” อาจจะกำลัง “ดูดี” น่าลงทุน

เหตุผลรวบยอดที่ใช้ก็คือ เขา “เกลียด” หุ้นที่มีลักษณะแบบนั้น เพราะลงทุนหรือเล่นแล้วก็มักจะขาดทุนหรือหุ้นไม่ไปไหน ตัวอย่างที่เห็นบ่อย ๆ ในเว็บบอร์ดสาธารณะเกี่ยวกับหุ้น เช่น “กลุ่มหุ้นปันผล” ที่จ่ายหรือกำลังจะจ่ายปันผลงดงามที่มักจะพบคอมเม้นท์ที่ว่า “อยากเอาปันผลไปคืน” หลังจากวัน X-Dividend หรือวันที่ได้รับสิทธิในปันผลไปแล้ว และราคาหุ้นตกลงมามากกว่าเงินปันผลที่ได้พอสมควร ซึ่งทำให้ซื้อแล้ว “ขาดทุน”

หุ้นที่ซื้อแล้ว “ขาดทุน” หรือ “ไม่ได้อะไรเลย” แม้ว่าจะวิเคราะห์ดีแล้ว และผลประกอบการก็ออกมา “ดีตามคาด” เป็นหุ้นที่มักทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะ VI รู้สึกผิดหวังมากกว่าปกติ

และนั่นก็อาจจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนถึงจุดหนึ่งเราก็จะ “เกลียด” และจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนั้น ซึ่งก็มีหลายแบบมากดังตัวอย่างต่อไปนี้

หุ้นโฮลดิ้ง-กงสี

กลุ่มแรกก็คือ หุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของเป็นกลุ่มที่ไม่ใคร่จะสนใจนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายหุ้น อาจจะเพราะพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเลยเพราะเขาไม่สนใจหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับการที่ไม่คิดจะขายหุ้น ซึ่งอาจจะอยู่ในบริษัทโฮลดิ้งหรือกงสีที่เป็นแหล่งของความมั่งคั่งของคนในกลุ่มของตนเองที่เป็นเจ้าของร่วมกัน

ดังนั้นพวกเขาก็อาจจะไม่สนใจที่จะทำให้ราคาหรือมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น หรือถ้ากิจการของบริษัทมีกำไรดี เขาก็จะจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงินอยู่กับบริษัทที่เขาควบคุมนั้น ดีกว่าต้องจ่ายออกไปให้กับนักลงทุนที่เป็น “คนนอก” หุ้นจึงมักจะไม่ค่อยไปไหน

คนที่เป็น VI รวมถึงผมก็เลยเกลียดหรือไม่ชอบหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สนใจผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มาจากต่างชาติบางประเทศที่มักจะมีประวัติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นาน ๆ เราก็อาจจะ “เผลอ” เหมือนกันเวลาเจอหุ้นหรือบริษัทที่ “ดี” และน่าสนใจมาก เราก็อาจจะเข้าไปซื้อหรือเก็งกำไร และก็อาจจะพบว่า “ผิดหวังอีกแล้ว ไม่รู้จักจำ” ว่าเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารเป็นใคร

หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์

หุ้นที่ผม “เกลียด” กลุ่มที่สองก็คือ หุ้นที่มีความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สูงมาก ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงได้มากเวลาที่อุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกันรุนแรง ตัวอย่างเช่น เหล็ก น้ำมัน ยาง ปิโตรเคมี หรือสินค้าบริการอย่างค่าระวางเรือเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระดับของการไม่ชอบและการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปลงทุนซื้อขายก็แตกต่างกันบ้างตามความผันผวนของราคาสินค้าและระดับของมาร์จินหรือส่วนต่างราคาซื้อและขายของบริษัทในอุตสาหกรรมแต่ละอย่าง

ธุรกิจที่เกี่ยวกับเหล็กนั้น ผมคิดว่าลำบากมากที่จะทำผลตอบแทนระยะยาวไม่ว่าบริษัทจะดีแค่ไหน ดังนั้น หุ้นเหล็กตัวหนึ่ง ที่แม้ว่าจะ “ยิ่งใหญ่” มากในตลาดหุ้นเวียตนามและทำกำไรได้ดีมากในปัจจุบันผมเองก็จะหลีกเลี่ยง ผมคิดว่า ในระยะยาวแล้ว การถือหุ้นเหล็กคงทำกำไรได้ยาก และถ้าระยะยาว 4-5 ปี ถือไม่ได้ ระยะสั้นแค่ 4-5 นาทีผมก็ไม่ถือ

อย่างไรก็ตาม หุ้นโภคภัณฑ์นั้น บ่อยครั้งก็ให้ผลตอบแทนแบบ “ทะลุฟ้า 4-5 เด้ง” ได้ง่าย ๆ และนี่ก็ทำให้เรา “เผลอ” เข้าไปเล่นได้ ผมเองเคยคิดอยู่บ้างเหมือนกันในหุ้นบางตัว แต่ก็ไม่ได้ทำและก็พลาดโอกาสทำเงินไป อย่างไรก็ตาม ผมก็พยายาม “ไม่เสียดาย” เพราะเราไม่อยากรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงและประเมินไม่ได้

ผมจะเล่นต่อเมื่อบริษัทหรือหุ้นที่ทำกิจการโภคภัณฑ์นั้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ของราคาสินค้าในทางเดียวกันหมด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงรวมของบริษัทได้มาก

และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หุ้นมีราคาที่ “ถูกมาก ๆ” และต่อให้ปีนั้นจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด มันก็ยังถูกอยู่ดี เพราะมันจะ “ไม่เจ๊ง” และในไม่ช้ากำไรก็จะกลับมาตามราคาโภคภัณฑ์ที่จะต้องดีขึ้น ตัวอย่างก็เช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้น

หุ้นถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี

หุ้นกลุ่มที่ 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานก็คือ กิจการที่อาจจะถูก Disrupt หรือทำลายล้างโดยเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัล ตัวอย่างอาจจะรวมถึงธุรกิจหนังสือ สิ่งพิมพ์ ทีวี และโรงภาพยนตร์ ที่ผมพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากนั้นธุรกิจอย่างเช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็อาจจะกำลังโดนรถไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรง

ทั้งหมดนั้น จริง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงหรือแค่บางส่วน นอกจากนั้น บริษัทก็อาจจะสามารถปรับตัวและหาตลาดใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเองก็ได้ ดังนั้น ถึงผมจะยังไม่ลงทุน ก็จะคอยติดตามว่าพัฒนาการของธุรกิจเป็นอย่างไร ผลประกอบการแย่ลงเรื่อย ๆ หรือเริ่มดีขึ้น ที่สำคัญ ราคาหุ้นตกลงมาถึงจุดไหนแล้ว ทั้งหมดนั้นก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะลงทุนและทำกำไรได้

หุ้นไม่มีเจ้าของ

หุ้นหรือบริษัทกลุ่มที่ 4 ที่ผมคิดว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากอาจจะ “เกลียด” แต่ผมเองคิดว่าน่าสนใจก็คือ หุ้นที่ “ไม่มีเจ้าของ” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก และผู้ถือหุ้นที่ถือจำนวนมากก็จะเป็นสถาบันที่ลงทุนโดยมืออาชีพ เช่นเดียวกับผู้บริหารบริษัทก็จะเป็นมืออาชีพที่จะต้องถูกประเมินโดยผู้ถือหุ้นสำหรับผลงานของตนเอง

ประเด็นที่นักเล่นหุ้นเกลียดหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ การที่หุ้นเหล่านี้มีขนาดใหญ่และมีคนที่พร้อมซื้อขายหุ้นมากเกินไป นอกจากนั้น จำนวนมากก็เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่มักตัดสินใจซื้อขายหุ้นโดยอิงกับภาวะการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก

นั่นทำให้หุ้นใหญ่ ๆ ของไทยปรับตัวขึ้นลงน้อยในแต่ละวันหรือแม้แต่สัปดาห์ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ซื้อขายก็ตัดสินใจโดยอาศัยพื้นฐานกิจการของบริษัทที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงช้า ข่าวดีหรือข่าวร้ายของบริษัทที่เข้ามากระทบนั้น ก็มักจะมีผลไม่มากต่อผลประกอบการโดยรวม

ดังนั้นราคาหุ้นจึงไม่ใคร่หวือหวา นักเล่นหุ้นที่เน้นการเก็งกำไรเร็ว ๆ จึงมักจะผิดหวังและ “ไม่อยากรอ” พวกเขาจึงมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้น

แต่ผมเองกลับชอบ เพราะราคาของหุ้นจะ “ไม่แพง” โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจลงทุนมากนัก และก็อาจจะไม่อยากที่จะถือหุ้นยาวด้วย เพราะมองว่ามีตลาดอื่นที่โตเร็วและเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่า

แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือกลุ่มที่มีความมั่นคงของผลประกอบการ มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ กิจการยังสามารถเติบโตได้บ้าง มีค่า PE ปกติไม่เกิน 10 เท่า และสามารถจ่ายปันผลในอัตราที่สูงมาก

เช่น 4-5% ต่อปีขึ้นไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผมก็คิดว่าน่าลงทุนและหวังผลตอบแทนได้อย่างน้อย 6-7% ต่อปีขึ้นไป ซึ่งน่าจะดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดในอนาคต

หุ้นที่มีเจ้ามือ

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมเกลียดก็คือ “หุ้นที่มีเจ้ามือ” หรือคนที่คอยดูแลทำราคาหรือเรียกว่าเป็น “Market Maker” หรือในกรณีที่รุนแรงก็คือปั่นหุ้นหรือ “คอร์เนอร์หุ้น” ที่ทำให้ราคาหุ้นผิดธรรมชาติมาก อาจจะสูงกว่าพื้นฐานเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

สิ่งที่จะต้องระวังมากสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ หลาย ๆ ตัวเป็นหุ้นที่อาจจะมีพื้นฐานที่ดี มีสตอรี่หรือเรื่องราวของหุ้นที่น่าสนใจมาก นอกจากนั้นก็อาจจะมีผลประกอบการที่ดูเหมือนจะมีการเติบโตสูงมากและบริษัทเป็น “ผู้ชนะ” คล้าย ๆ กับ “ซุปเปอร์สต็อก”

แต่ถ้าวิเคราะห์ดูอย่างรอบคอบและไม่ถูกอิทธิพลของการ “เล่าเรื่อง” ประกอบกับผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นมาก และราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด ก็อาจจะพบว่าบริษัทอาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้นในระยะยาว ซึ่งก็จะทำให้ในที่สุด ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็จะตกลงมาอย่างแรงจนทำให้คนที่เข้าไปเล่นขาดทุนได้ทั้ง ๆ ที่เคยได้กำไรมโหฬารแต่ไม่ยอมขายเพราะยังเชื่อในตัวหุ้นอยู่

ผมเองพยายามและก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นได้สำเร็จ เพราะเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการสำคัญที่สุดของการลงทุนนั่นก็คือ ถ้าหุ้นมีราคาแพงมากเกินไปมาก ผมไม่ซื้อ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมไม่เชื่อสตอรี่ที่ดีเกินไป และก็ไม่ชอบผู้บริหารที่ “โม้” มากเกินไป

ดังนั้น เมื่อพบว่าบริษัทมีอาการแบบนั้น ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้น ผมพลาดหุ้นแนวนี้เยอะมากในช่วงอย่างน้อย 6-7 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่า คนที่เข้าไปเล่นหุ้นเหล่านั้นเจ็บตัวกันหนัก หลายคน “คืนเงินกลับไปหมดแล้ว” หลังจากคอร์เนอร์ “แตก” กันเป็นระลอก

กล่าวโดยสรุปทั้งหมดก็คือ โดยปกติแล้ว ผมจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เกลียด และจะซื้อก็ต่อเมื่อหุ้นมีราคาถูกถึงถูกมาก และต้องดูแล้วว่ามันก็ไม่ถึงกับเกลียดมากจนซื้อไม่ได้เลย


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1435260

X