หุ้น

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์


โดย คุณทัณฑิกา นิมิตพงษ์  
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

หากพูดถึงหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือที่คุ้นเคยกันดีกับชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Perpetual Subordinated Bond เป็น
ตราสารที่ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่น อะไรทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นที่นิยม และการลงทุนในตราสารประเภทนี้ ต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง มาหาคำตอบกันค่ะ  
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ ชื่อทางการ คือ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” หุ้นกู้ประเภทนี้มาพร้อมลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากหุ้นกู้ประเภทอื่น ๆ หลายประการดังนี้  
1. จัดเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จึงได้รับการชำระหนี้ในลำดับ “หลัง” จากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ แต่มีสิทธิได้รับเงิน “ก่อน” ผู้ถือหุ้นสามัญ  ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับเงินคืนทั้งหมด บางส่วน หรือไม่ได้รับคืนก็ได้  
2. เนื่องจากหุ้นกู้มีลักษณะคล้ายทุน กล่าวคือไม่มีวันครบกำหนดอายุเหมือนหุ้นกู้แบบปกติ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นทุน ดังนั้น จะได้รับชำระหนี้เมื่อบริษัทเลิกกิจการตามลำดับสิทธิที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ 1 หรือเมื่อบริษัทผู้ออกมีการไถ่ถอนหุ้นกู้ ทำให้ผู้ลงทุนจะไม่ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอนในการได้รับเงินต้นคืนจากการลงทุนในขณะที่ถือหุ้นกู้ดังกล่าว  
3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมสะสมดอกเบี้ยจ่าย โดยจะไปชำระเมื่อใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย ดังนั้น แม้ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยที่สูงเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ประเภทอื่น ๆ แต่แลกมากับความไม่แน่นอนในการได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยจ่ายเหมือนกับหุ้นกู้แบบปกติ
4. กรณีผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ตัวอื่น ๆ จะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ประเภทนี้ด้วย กล่าวคือ ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ หรือ Cross-Default ซึ่งหมายถึงผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
นอกเหนือจากลักษณะพิเศษข้างต้นแล้ว ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่นักลงทุนต้องพึงตระหนักเมื่อจะลงทุนในหุ้นกู้ชั่ว        นิรันดร์ มีดังนี้
1. เนื่องจากสิทธิของตราสารด้อยกว่าตราสารประเภทอื่น  จึงทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารมักจะต่ำกว่าอันดับ
ความน่าเชื่อถือของผู้ออก หรือตราสารแบบไม่ด้อยสิทธิของผู้ออกตราสารนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. ได้รับการจัดอันดับ
ความเชื่อถือที่ระดับ A- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ก. ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A-  หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของบริษัท ก. อันดับความน่าเชื่อถือมักจะต่ำกว่า A- เสมอ  
2. หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ออกและเสนอขายส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด (Call Option) ซึ่งมักจะอยู่ที่ระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ออกตราสาร1 สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดของผู้ออกตราสารทำให้นักลงทุนที่วางแผนลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 5 ปี อาจได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ตั้งแต่ตอนต้นเมื่อลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์แล้วมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด นอกจากนี้ ราคาไถ่ถอนมักจะเท่ากับ ”มูลค่าที่ตราไว้” ของหุ้นกู้ ซึ่งอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่า

1 TRIS Rating พิจารณาให้หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่กำหนดสิทธิไถ่ถอนครั้งแรกห่างจากวันที่ออกตราสารอย่างน้อย 5 ปี มีความเป็นทุนระดับปานกลาง (Intermediate Equity Content) ซึ่งจะส่งผลให้การคำนวณอัตราส่วนทางการเงินเพื่อจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร จะนับเป็นส่วนทุน 50% และนับเป็นหนี้ 50% ในช่วง 5 ปีแรก ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่สูงมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ตามปกติ
(ที่มา: https://www.trisrating.com/files/7316/2484/8515/Hybrid_28_Jun21-t.pdf)

ราคาตลาดของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในขณะนั้น และเมื่อได้รับเงินคืน ผู้ซื้อต้องพิจารณาทางเลือกในการลงทุนใหม่ (Reinvestment) ซึ่งในขณะนั้น อาจจะหากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเทียบเท่ากับที่เคยคาดหวังไว้ไม่ง่ายนัก  
3. ปริมาณการออกและเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ระยะยาวที่จดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ (ThaBMA)  ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 พบว่ามีหุ้นกู้ระยะยาวที่จดทะเบียนใน ThaiBMA ประมาณ 4.39 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ประมาณ 0.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 3% ของมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวทั้งหมด จึงทำให้การซื้อขายในตลาดรองทำได้ยาก เนื่องจากปริมาณออกเสนอขายมีต่ำ และนักลงทุนส่วนใหญ่นิยมถือครองถือในระยะยาวมากกว่านำมาขายในตลาดรอง  
นักลงทุนจะเห็นได้ว่า หุ้นกู้ประเภทนี้ มีเงื่อนไขพิเศษ ดอกเบี้ยที่สูงอาจทำให้นักลงทุนให้ความสนใจลงทุน แต่ผลตอบแทนที่สูงนั้น ก็แลกมากับความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นกู้ประเภทอื่นเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ จึงต้องสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง และไม่มีแผนการใช้เงินจำนวนดังกล่าวในระยะสั้น เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทนี้มักมีข้อกำหนดในการห้ามไถ่ถอนก่อน 5 ปีแรกหลังจากการออกหุ้นกู้ชนิดนี้ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่จะเริ่มลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ ขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลของตราสาร และเงื่อนไขของตราสารนั้นๆ ก่อนการลงทุนอย่างละเอียดทุกครั้ง


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/mutualfund/detail/9670000000497?tbref=hp

X