ประกันภัย
ประกันคุมเคลม “ป่วยเล็กน้อย” หวังกดราคาเบี้ยสุขภาพ ไม่แพงเกินควร
คปภ.ถก 2 นายกสมาคมประกัน แก้ปมค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นทุกปี หวั่นส่งผลกระทบทำเบี้ยประกันสุขภาพพุ่งกระทบประชาชนจ่ายไม่ไหว เล็งคลอดเกณฑ์คุมเบิกเคลมถี่ “เจ็บป่วยเล็กน้อย” ฉ้อฉลขอนอนโรงพยาบาลหวังค่าชดเชยรายวัน “สมพร” ชงผู้เอาประกัน “ร่วมจ่าย-ออกโปรดักต์รักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ-ระบุชื่อโรงพยาบาล” ช่วยต้นทุนรักษาต่ำลง ฟาก “สาระ” รับแนวโน้มค่าสินไหมประกันสุขภาพเริ่มน่ากังวล ชี้ต้องยึดหลักความจำเป็นทางการแพทย์มากขึ้น
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านประกันภัย (OIC MEETS CEO 2024) เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การหารือกันถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพ ตามที่สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย นำเสนอ ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะจากอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล (Medical Inflation) ที่โตเร็วมากปีละ 8-14% อาจจะเป็นอุปสรรคในวันข้างหน้า และจะกระทบย้อนกลับทำให้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพแพงขึ้น
“ถ้าไม่รีบจัดการ จะกระทบถึงความสามารถของประชาชนที่จะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไม่ไหว เพราะถ้าเราปล่อยให้เบี้ยโตตามค่ารักษา ก็แปลว่าเราจะเริ่มทิ้งผู้ทำประกันบางราย ซึ่งเขาจ่ายไม่ไหว ดังนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องรีบแก้ปัญหา และเป็นประเด็นที่บอร์ด คปภ.ตระหนักมาก คือ การประกันสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคน ทั้งผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง จะต้องการเข้าถึงได้”
ชูฉัตร ประมูลผล
ทั้งนี้ คปภ.ต้องการรักษาการเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพ แต่ไม่ต้องการเพิ่มเบี้ยรายบุคคล ซึ่งเบื้องต้นมีการพูดคุยทางออกในหลายมิติ คือ 1. การออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลเรื่องการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ, ไข้หวัด, ท้องเสีย, เวียนศีรษะ เป็นต้น เพื่อทำให้การใช้ประกันสุขภาพมีความเหมาะสม
2. การออกมาตรการควบคุมการฉ้อฉลประกันสุขภาพ เพื่อลดการรั่วไหลของเงิน เช่น กรณีผู้ทำประกันที่เรียกร้องเบิกเคลมประกันมากเกินไป (Overuse) ในโรคเดียวกัน โดยเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง หรือขอนอนโรงพยาบาลเพื่อต้องการเบิกค่าชดเชยรายวัน เป็นต้น
และ 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพใหม่ ๆ ที่จะคุ้มค่า โดยในปัจจุบันผู้ทำประกันสุขภาพจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก ดังนั้นต่อไปอาจจะต้องหารือกับโรงพยาบาลรัฐที่จะออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพเป็นการเฉพาะขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งมีต้นทุนการรักษาที่ต่ำกว่า
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมพยายามหากลไกการบริหารจัดการเข้ามาร่วมด้วย เช่น ได้เสนอแนวทางร่วมจ่าย (Copay Insurance) เนื่องจากทุกวันนี้ประกันสุขภาพที่ออกมาแล้ว ตั้งแต่บาทแรกถ้ากรมธรรม์ทริกเกอร์ บริษัทประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต
หรือบริษัทประกันวินาศภัย จะต้องจ่ายเคลมให้กับสถานพยาบาลตามข้อกำหนด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่การเรียกร้องเบิกเคลมประกันมากเกินไป (Overuse) ได้
“ถ้ามีส่วนร่วมจ่าย สิ่งที่ประชาชนจะได้ ก็คือจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันการใช้สิทธิรักษาพยาบาลก็จะมีความระมัดระวังขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดที่จะออกกรมธรรม์ประกันสุขภาพ แยกเฉพาะสำหรับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีต้นทุนการรักษาที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเบี้ยประกันสุขภาพโดยรวม ก็อาจจะถูกกว่า หรือต้องมีการจัดเกรดโรงพยาบาลเป็นกลุ่ม A B C ตามอัตราค่ารักษาพยาบาลที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงการออกกรมธรรม์ที่ระบุรายชื่อโรงพยาบาลเจาะจงลงไป
“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกที่ถูกโยนเข้าไป เพื่อหาแนวทางแก้ไข และต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และ/หรือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนด้วย ผลสุดท้ายคือจะทำอย่างไรที่จะยืดระยะเวลาในการไม่ขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพ เพื่อไม่กลายเป็นภาระของประชาชน ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ภาคธุรกิจประกันภัยเจออย่างเดียว เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสุขภาพ ก็ล้วนแต่เจอปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น”
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า เรื่องแนวโน้มค่าสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพ เริ่มน่ากังวลมากขึ้น เป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของบริษัทประกันชีวิตอยู่พอสมควร เห็นจากอัตราส่วนการเคลมค่อนข้างสูงพอสมควร ซึ่งจริง ๆ เป็นสิทธิของลูกค้าผู้เอาประกัน เพียงแต่ต้องมีหลักตามมาตรฐาน หรือความจำเป็นทางการแพทย์ที่มากขึ้น
“อีกด้านหนึ่งที่มีการคุยกัน คือ จะทำอย่างไรที่จะให้ความรู้กับผู้เอาประกัน หรือคนที่ยังเข้าไม่ถึงเรื่องประกัน ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพหรือความคุ้มครองสุขภาพ และความจำเป็นทางการแพทย์ที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องทำควบคู่กับพาร์ตเนอร์สถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาสถานพยาบาลต่าง ๆ ถือเป็น Good Partner ที่ดีกันมาโดยตลอด”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง 109,786 ล้านบาท เติบโต 5.93% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยสุขภาพ 15,669 ล้านบาท ลดลง 0.9%
X