ประกันภัย

“ประกันป่วน” EV หั่นราคาไม่เลิก เร่งปรับแผน “ลดทุน-เพิ่มเบี้ย”


สงครามราคารถ EV จีนสะเทือนธุรกิจประกันวินาศภัยปั่นป่วน สมาคมเผยทุกบริษัทเร่งปรับตัวอุตลุด เผย BYD ทุบราคาลงกว่า 20% ส่งผลกระทบ “ทุนประกัน” สูงกว่าราคารถใหม่ บริษัทประกันต้องมอนิเตอร์ราคา EV แบบรายสัปดาห์ พร้อมแผนปรับ “ลดทุนประกัน-เพิ่มเบี้ย” ให้สอดคล้องกับตลาดและความเสี่ยง คปภ.ออกคำสั่งให้บริษัทประกัน EV ทำแผนบริหารความเสี่ยง “วาสิต ล่ำซำ” ประธานบอร์ดประกันภัยยานยนต์หั่นเป้ายอดขายอีวี เผยลูกค้าชะลอตัดสินใจหวั่นผู้ผลิตลดราคาอีก


อีวีดัมพ์ราคากระทบทุนประกัน


แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันวินาศภัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลพวงสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีน ที่มีการปรับลดราคาแบบลดแล้วลดอีกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และล่าสุด เรเว่ ออโตโมทีฟ ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการอีวีจีนแบรนด์ BYD ในประเทศไทย ประกาศลดราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่น BYD Dolphin ลงสูงสุดถึง 160,099 บาท และ NETA ประเทศไทย ตัดสินใจปรับลดราคาขายรถอีวีรุ่น NETA V-II ลงไปสูงสุด 50,000 บาท เพื่อแข่งขันกระตุ้นยอดขาย สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับธุรกิจประกันรถยนต์อย่างมากเช่นกัน


ประเด็นนี้ส่งผลให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยต้องมีการปรับโปรแกรมราคามาตรฐานกลางรถยนต์ (TGIA BOOK) กันเป็นรายสัปดาห์ และกลายเป็นว่าได้สร้างความปั่นป่วนต่อธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นอย่างมาก เพราะปรับลดราคาขายรถใหม่ป้ายแดงลงกว่า 20% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทุนประกันภัยรถ EV


ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นผู้รับประกันภัยรถ EV ต้องเร่งเตรียมปรับลดทุนประกันภัยใหม่ให้สอดคล้องกับราคาอีวี เพราะกลัวเจ๊ง เนื่องจากราคาค่าซ่อมโดยทั่วไปไม่ได้ลดตาม อย่างไรก็ดี ในแง่ของราคาเบี้ยประกันอีวี บางค่ายก็เริ่มมีการปรับเพิ่มเบี้ย สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น


“เวลานี้แต่ละบริษัทประกันกำลังปรับลดทุนประกันรถ EV ใหม่ และคาดว่าทุนประกันต่อไปในอนาคตจะลดลงถึงปีละ 30% ไม่ใช่แค่ 10% แล้ว เพราะราคารถ EV ค่อนข้างไดนามิก ทุกค่ายต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะหากทุนประกันรถอีวีแพงกว่าราคามือสอง ก็จะมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวกล่าว


ประกันแตะเบรก EV


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันบริษัทประกันมีความระมัดระวังการขายเบี้ยประกันอีวี ไม่แข่งตัดราคา โดยที่ผ่านมา บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด ก็ได้ประกาศชัดว่าลดเป้าหมายการขยายส่วนแบ่งตลาด โดยไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทำแคมเปญแถมประกันฟรีให้ลูกค้า “บีวายดี”


เพราะในกรณีการทำแคมเปญร่วมกับค่ายรถ บริษัทประกันจะถูกกดค่าเบี้ย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตลาดรถยนต์กำลังซึมยาว เนื่องจากต้องรักษากำไรจากการรับประกันภัย มากกว่าการเป็นเจ้าตลาดประกันรถ EV ซึ่งขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยหลาย ๆ ค่ายก็ไปในทิศทางนี้


คุ้มภัยโตเกียวปรับแผนยันไม่เลิก


นอกจากนี้ รายงานข่าวในวงการประกันภัยรถ EV มีการแชร์ข้อมูลระบุว่า บริษัทคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย ขอยกเลิกขายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับงานใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป


แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไม่ได้เลิกขายประกันรถ EV และยังอยู่ในบัญชีรายชื่อแถมฟรีประกันสำหรับรถป้ายแดงของรถ EV หลายยี่ห้อ เพียงแต่ขณะนี้บริษัทได้ยกเลิกราคาเบี้ยเดิมที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกรณีรถอีวีที่ทำประกันปีที่ 1 กับบริษัทอื่น และต้องการโอนย้ายมาให้บริษัทรับประกันปีที่ 2


โดยสาเหตุการปรับในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัจจุบันราคาขาย EV ป้ายแดง และราคารถมือสองมีความผันผวนมาก ทำให้ราคาเบี้ยที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ต้องนำกลับมาประเมินใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างศึกษา โดยจะเป็นการปรับราคาทุนประกันภัยในการเสนอขายใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพิจารณาร่วมกับต้นทุนการชดใช้จ่ายเคลม


ซึ่งก็ยอมรับว่าอัตราเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของประกันรถ EV ค่อนข้างอยู่ในระดับสูง สาเหตุหลักจากค่าซ่อมและค่าแบตเตอรี่ยังแพงอยู่ ทั้งนี้ บริษัทพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในตลาดรถ EV ของประเทศไทย ซึ่งมีความเสี่ยงที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง


“ขอย้ำว่าเราไม่ได้หยุดรับประกัน EV เพียงแต่ราคาเบี้ยเดิมที่วางไปเราให้ระงับการใช้ เพราะประเมินความเสี่ยงแล้วต้องปรับทุนประกันและเบี้ยให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์จะทำประกันรถ EV กับเรา สามารถสอบถามค่าเบี้ยเข้ามาได้ โดยเราจะคำนวณเบี้ยให้เป็นรายคัน” แหล่งข่าวผู้บริหารกล่าว


สมาคมเผยทุกบริษัทเร่งปรับตัว


นายวาสิต ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดรถ EV ช่วงนี้ค่อนข้างไดนามิกมาก โดยทุกบริษัทที่รับประกันรถ EV ต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด


โจทย์หลักคือต้องพยายามประเมินราคารถ EV ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของตลาด EV ให้มากที่สุด เพื่อกำหนดทุนประกันให้เหมาะสม สำหรับในส่วนความคุ้มครองประกันรถ EV ปีที่ 2 หรือกรณีย้ายบริษัท


“เดิมลักษณะงานรับประกันปี 2 หรือเปลี่ยนบริษัทประกัน จะกำหนดเบี้ยเป็น Single Rate ซึ่งจะทำเป็นช่วงราคาทุนประกันภัยเป็นกรอบกว้างไว้ ดังนั้น แต่ละบริษัทต้องไปประเมินว่าทุนประกันภัยที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านั้นเพียงพอรองรับกับราคารถที่ลงหรือไม่”


นายวาสิตกล่าวว่า จริง ๆ การปรับตัวเป็นไปตามหลักการประกันภัย ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ เพราะเวลาที่บริษัทประกันมีการกำหนดทุนประกันภัย จะอ้างอิงมูลค่ารถประมาณ 80% ของราคาซื้อขายรถยนต์ สาเหตุหลักคือไม่ต้องการทำทุนประกันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Over-Sum Insured)


เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความไม่สุจริตของผู้เอาประกันภัย (Moral Hazard) เช่น เกิดเคลมลักษณะแปลก ๆ เพราะหวังค่าสินไหมทดแทน ขณะเดียวกัน ถ้ากำหนดทุนประกันต่ำเกินไป ก็ทำให้เกิดความลำบากกับผู้เอาประกันภัย จึงต้องกำหนดทุนประกันภัยให้มีความเหมาะสม


ส่วนทิศทางการปรับเบี้ยประกันอีวีนั้น ผลกระทบปีนี้ยังไม่มาก เพราะเป็นปีแรกที่เริ่มบังคับการให้ส่วนลดจากการเก็บพฤติกรรมการขับขี่ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันรถอีวีใหม่ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป


โดยจะมีผลในการต่ออายุไตรมาส 2 ของปี 2568 ซึ่งจะยึดตามความเสี่ยงภัยรายบุคคล ท้ายที่สุดก็คาดหวังว่าแนวทางนี้จะทำให้พฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในท้องถนน ซึ่งเป็นเป้าหมายของสำนักงาน คปภ. และสมาคมที่อยากเห็น


ยอดขายรถดิ่งทุบเบี้ยประกัน


นายวาสิตกล่าวอีกว่า สำหรับภาพตลาด EV ปัจจุบัน เทียบกับเมื่อต้นปี 2567 ในแง่ของยอดขายรถ ต้องถือว่าปีนี้ค่อนข้างออกมาต่ำกว่าความคาดหมายไปมาก และไม่ใช่เฉพาะรถ EV แต่รวมถึงรถสันดาปก็ติดลบด้วย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุคือ 1. สภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้คนไม่ค่อยลงทุนในการซื้อรถใหม่


2. การแข่งดัมพ์ราคาของผู้ผลิต EV จีนจากที่มีซัพพลายที่นำเข้ามา จึงทำให้เกิดภาวะลดราคาบ่อยและถี่ขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเลในการจะซื้อรถ เพราะกังวลว่าราคาจะลดลงอีก จึงชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป


ดังนั้น คาดว่าจะกระทบกับเป้าเบี้ยประกัน EV ที่คาดไว้จากเดิมประเมินว่าจะมีรถ EV ใหม่ปีนี้ระดับ 1.2-1.3 แสนคัน น่าจะเหลือใกล้เคียงปีที่แล้ว แค่ระดับ 7-8 หมื่นคัน โดยจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2567 มีรถอีวีที่จดทะเบียนสะสม 1.5 แสนคัน คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน EV ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท (เฉลี่ย 20,000 บาทต่อคัน)


ทั้งนี้ ยังมีความหวังว่าถ้าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังผงกหัวดีขึ้นมาก และราคาน้ำมันแพงขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อรถ EV มากขึ้น เพราะราคารถในวันนี้ถึงจุดที่น่าสนใจ ประกอบกับคาดหวังว่าสถาบันการเงินเริ่มผ่อนคลายในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย


สำหรับในมุมของบริษัทประกันก็ยังให้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และกลาง ในส่วนบริษัทเล็ก ๆ ก็เข้ามาทำตลาดอยู่บ้าง แต่ยังไม่เห็นเรื่องการแข่งขันที่สูงมาก ประกอบกับที่สำนักงาน คปภ.ได้ออกคำสั่งให้บริษัทที่รับประกัน EV ต้องจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง ซึ่งทำให้ทุกบริษัทได้ตระหนักเรื่องของการทบทวนทั้งนโยบายและแผนการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการรับประกันภัยและการชดใช้สินไหมให้ดี


“ถ้าเริ่มมีการวางแผนจัดการความเสี่ยงแล้วเดินได้ตามนั้น ก็น่าจะทำให้การรับประกัน EV แต่ละบริษัทสามารถจะไปสู่จุดสมดุลได้ ไม่ได้วิ่งเข้าไปเพื่อตัดราคา” นายวาสิตกล่าว


คปภ.ประเมินแผนบริหารเสี่ยง EV


นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตอนนี้ คปภ.อยู่ระหว่างรวบรวมและประเมินแผนบริหารความเสี่ยงที่รับประกันภัยรถ EV


ประกอบด้วย 1. ข้อมูลทั่วไป (ช่องทางการขาย, กลุ่มเป้าหมาย, กำไร) 2. ศักยภาพของบริษัทในการรับประกัน (จำนวนกรมธรรม์สูงสุด, จำนวนเงินเอาประกันสูงสุด, อัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงสุด ที่บริษัทมีศักยภาพในการรับประกัน)


และ 3. วิธีการบริหารความเสี่ยง (ความเสี่ยงสำคัญ, แนวทางการใช้เบี้ยประกันภัย และการปรับเปลี่ยนเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ อะไหล่ อู่ซ่อม การประกันภัยต่อ การเก็บข้อมูล การติดตามหลังออกสู่ตลาด)


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1598803
X