ประกันสุขภาพ
ถึงเวลาอัพเดต ประกันสุขภาพ ของคุณหรือยัง ?
บทความโดย "วิวัฒน์ นวกานนท์"
ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวกระโดดไปอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพเองก็ต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่ให้ทันสมัยและรองรับต่อรูปแบบการรักษาที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน ทั้งในด้านวงเงินความคุ้มครองที่ขยายเพิ่มขึ้นและความคุ้มครองเรื่องการรักษาให้ครอบคลุมในนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวสัญญาให้เป็น “มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่” ทำให้ผู้เอาประกันได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
“มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่” (New Health Standard) เป็นประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการแพทย์ ลดความซับซ้อนของสัญญาประกันสุขภาพที่แต่ละบริษัทประกันตั้งหัวข้อผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน ทำให้เปรียบเทียบกันได้ยาก
รวมถึงเนื้อหาข้อกำหนดบางอย่างยังมีช่องโหว่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันโดนเอาเปรียบจากการไม่สามารถเบิกเคลมได้ หากหัวข้อการรักษาไม่ตรงกับข้อกำหนดที่ระบุความคุ้มครองในกรมธรรม์ คปภ. จึงทำมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่นี้ขึ้นมา เพื่อให้เนื้อหาในกรมธรรม์ของสัญญาประกันสุขภาพมีความทันสมัย คุ้มครองได้ครอบคลุมมากขึ้น อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เปรียบเทียบกันได้ และไม่เกิดการเอาเปรียบผู้ทำประกัน
เมื่อเข้าใจใน “มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่” แล้ว สิ่งที่เราควรสำรวจเพิ่มเติมว่าถึงเวลาที่จะอัพเดตประกันสุขภาพฉบับใหม่หรือยัง มี 7 ข้อดังนี้
1. ค่ารักษาพยาบาลและวงเงินความคุ้มครองที่มีอยู่ : ตรวจสอบว่าแผนประกันสุขภาพที่มีอยู่นั้นมีค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบไหน เป็นแบบ “แยกค่าใช้จ่าย” หรือ ”เหมาจ่าย” วงเงินคุ้มครองเพียงพอต่อการใช้งานจริงในปัจจุบันหรือไม่ เช่น เคยทำไว้ 15 ปีที่แล้วแบบประกันค่าห้องที่ 1,000 ต่อคืน มีวงเงินค่ารักษาหนึ่งแสนบาท ซึ่งถ้าคิดว่าไม่เพียงพอในปัจจุบันแล้วก็ควรพิจารณาทำเพิ่มหรือเปลี่ยนแผนประกัน
2. ผลประโยชน์ความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง : แผนประกันสุขภาพใหม่มีความคุ้มครองหมวดอื่น ๆ เพิ่มเติมดีกว่าเดิมหรือไม่ เช่น มีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายการตรวจสุขภาพ ค่ารักษาทางทันตกรรม ค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นต้น ทั้งนี้ควรต้องตรวจสอบด้วยว่ามีความคุ้มครองอะไรที่หายไปหรือไม่ เพราะบางครั้งแบบประกันเดิมก็มีความคุ้มครองบางรายการ ที่ครอบคลุมมากกว่าแบบประกันใหม่เช่นกัน
3. เบี้ยประกัน : การเปลี่ยนแผนประกันใหม่ที่ดีขึ้น วงเงินคุ้มครองมากขึ้นอาจจะชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก ซึ่งอาจจะคุ้มค่ามากกว่า และ หากต้องชำระเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ควรพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยและแผนการเงินในระยะยาวของเราด้วย
4. สิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ : ตรวจสอบว่าแผนประกันใหม่นั้นมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่เราสนใจหรือไม่ เช่น บริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ (Telemedicine), ส่วนลดเบี้ยประกันสำหรับผู้ที่สุขภาพดี เป็นต้น
5. ความเหมาะสมกับสไตล์การใช้ชีวิต : ต้องดูว่าแผนประกันใหม่ที่เราสนใจนั้นเหมาะสมกับสไตล์การใช้ชีวิตและความต้องการของเราหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแน่นอน แต่แผนประกันที่มีอยู่ดูแล้วไม่เพียงพอแน่นอน เราก็ต้องดูแผนประกันใหม่ที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลที่เราคาดว่าจะใช้บริการ ซึ่งหากต้องชำระเบี้ยเพิ่มเติม เราต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยของเราด้วย
6. สุขภาพร่างกายของเรา : ถ้าเราอยู่ในช่วงที่อายุยังไม่เยอะ ข้อนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไรต้องกังวลมากนัก สามารถปรับแผนประกันสุขภาพ โดยการสมัครใหม่แทนเล่มเก่าได้อย่างสบาย การทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ ควรทำในช่วงที่สุขภาพร่างกายเรายังสมบูรณ์และแข็งแรงดีที่สุด เพื่อจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และไม่ต้องเสี่ยงกับการโดนพิจารณาเพิ่มเบี้ยประกัน
7. ความคุ้มครองที่ยกเว้น หรืออาการป่วยที่เรื้อรัง : เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ ถ้าประกันฉบับที่มีอยู่นั้นให้ความคุ้มครองครบถ้วน และเกิดมีโรคประจำตัวเกิดขึ้นในระหว่างทางที่ถือประกันฉบับเดิมนั้น เราควรพิจารณาเป็นการทำฉบับใหม่เพิ่มเติมเลยจะดีกว่า เพราะถ้ายกเลิกเล่มเดิมไปจะทำให้เราเสียประโยชน์ในความคุ้มครองโรคนั้น ๆ ที่คาดว่าประกันฉบับใหม่จะยกเว้นความคุ้มครองไป
เมื่อสำรวจครบ 7 ข้อแล้ว สรุปได้ว่าควรมีการอัพเดตแผนประกันสุขภาพใหม่ ก็ควรพิจารณาในเรื่องระยะเวลาของการทำประกันสุขภาพฉบับใหม่โดยทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ ก่อนที่เล่มเดิมจะหมดความคุ้มครอง 30-120 วัน เพราะว่า
• ประกันสุขภาพโดยทั่วไป จะมีระยะเวลารอคอยในการคุ้มครอง 30 วัน หลังประกันอนุมัติ
• บางโรค จะมีระยะเวลารอคอยในการคุ้มครอง 60-120 วัน แล้วแต่แบบประกันและสัญญาเพิ่มเติม
• บางครั้งเราอาจตรวจเจออาการหรือโรค ขณะสมัครทำประกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกเว้นความคุ้มครอง, เพิ่มเบี้ยประกัน หรืออาจทำประกันสุขภาพใหม่ไม่ได้เลย ถ้าเรารู้ตัวก่อนก็จะยังสามารถเก็บประกันสุขภาพเล่มเดิมไว้ได้
การอัพเดตประกันสุขภาพนั้นถือเป็นกระบวนการในการวางแผนทางการเงินที่สำคัญ เป็นการตรวจสอบแผนทางการเงินของเราในด้านการจัดการความเสี่ยง ช่วยปรับปรุงความคุ้มครองให้ตรงตามความจำเป็นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นโดยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ อีกด้วย
การอัพเดตนั้นจะทำให้มีแผนประกันสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด โดยสามารถตรวจสอบตามขั้นตอนนี้ได้ด้วยตัวเอง หากยังมีความสงสัยในเรื่องเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ ก็สามารถสอบถามได้ที่ตัวแทนประกัน เจ้าหน้าที่บริษัท หรือนักวางแผนการเงินมืออาชีพ ก็จะได้คำแนะนำที่ชัดเจนและตรงประเด็นที่สุด
X