ข่าวการเงิน

แก้หนี้ยังไงดี ?


คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ


ปัญหาหนี้ครัวเรือน นี่ต้องบอกว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ และเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก


โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่สูงถึงระดับแถว ๆ 90% ในจำนวนนี้มีกลายเป็นหนี้เสียแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ที่เริ่มค้างชำระและอาจจะกลายเป็นหนี้เสียในระยะต่อไปก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ซึ่งที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความเข้มข้นเป็นระดับไหน อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะบางคนปรับแล้วก็รอด บางคนก็ยังไม่รอด


ฟังจากบริษัทบริหารหนี้ ก็บอกว่าปีนี้แค่ครึ่งปีแบงก์มีการเปิดประมูลหนี้เสียเกือบเท่ากับปีที่แล้วทั้งปีแล้ว คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะสูงกว่าปีที่แล้วแบบ “ดับเบิล”


แต่ถึงแม้จะเปิดประมูลเยอะ แต่ก็ใช่ว่าจะขายได้หมดนะ เพราะแบงก์ก็ต้องการขายได้ในราคาสูง ส่วนบริษัทบริหารหนี้ก็ต้องการซื้อในราคาไม่แพง เพื่อจะไปทำกำไรต่อได้ อันนี้เป็นเรื่องมุมทางธุรกิจ เข้าใจได้


ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวจากฝั่งลานประมูลรถ บอกว่าปีนี้ยอดรถยึดเข้าสู่ลานประมูลมากเป็นประวัติการณ์ แถมการระบายรถมือสองออกก็ทำได้ยาก


เหล่านี้คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ผูกโยงกันไปหมด สะท้อนว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วงอย่างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจก็โตแบบเอื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดรายได้


เข้าใจดีว่าทุกฝ่ายเห็นปัญหา และพยายามหาวิธีแก้ในแบบของตัวเอง


ล่าสุดรัฐบาลก็บอกว่ากำลังหาทางแก้ไขหนี้รถกระบะและหนี้รถจักรยานยนต์ เพราะถือว่ากลุ่มนี้ใช้รถเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ตรงนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะแก้อย่างไร


โดยในเชิงนโยบาย ใครมีเครื่องมืออะไรก็หยิบมาใช้ อย่างเช่น คนที่มีหน้าที่คุมการก่อหนี้ ก็เพิ่มความเข้มข้นในการคุม หรือหน่วยงานไหนที่สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขอะไรได้ ก็พยายามผ่อนปรนให้ได้มากที่สุด


แต่สิ่งที่อยากฝากให้คิดก็คือ จะบาลานซ์ระหว่างการคุมกำเนิดหนี้ครัวเรือน กับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร


ถ้าจะคุม คุมแค่ไหนที่จะพอดี ไม่ให้มีเอฟเฟ็กต์ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่โตไปด้วย หรือถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นระดับใดจะพอเหมาะพอควร และช่วยให้หนี้ลดลงได้ด้วย


เป็นโจทย์ที่ยากนะ คงต้องฝากให้ผู้เกี่ยวข้องไปคิดหาวิธีกันต่อไป


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1617022
X