ข่าวการเงิน
ย้อนเหตุการณ์ เงินหายจากบัญชีไม่รู้ตัว เกิดอะไรขึ้น ป้องกันอย่างไร
ย้อนเหตุการณ์ “เงินหายจากบัญชีไม่รู้ตัว” คนไทยเจอแบบไหนมาแล้วบ้าง และมีวิธีป้องกันอย่างไร
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หนึ่งในมิจฉาชีพที่สังคมไทยเจอมาโดยตลอด
ตั้งแต่ยุคของการเริ่มต้นเทคโนโลยี
มาจนถึงวันนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
ยิ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา วิธีการหลอกลวงของเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์
พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ประหนึ่งโทรศัพท์สมาร์ตโฟนที่คอยอัพเดตตัวเองให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่
วิ่งตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปด้วย
แม้ว่าทุกภาคส่วนจะพยายามช่วยเหลือให้ความรู้ เพื่อรู้ทันกลโกงมากขึ้น
แต่ในทุก ๆ วัน ยังมีผู้เสียหายจากการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ตลอด
และเราทุกคนจะป้องกันได้อย่างไร
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนดูรูปแบบกลโกง เงินหายไม่รู้ตัว พร้อมวิธีการป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคนต่อไป
ทำแอปฯ ปลอม เพื่อดูดเงินจริง
กลลวงมิจฉาชีพที่อาศัยการทำแอปพลิเคชั่นหนึ่งขึ้นมา
ซึ่งอาศัยการส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดเท่านั้น ไม่มีการให้ดาวน์โหลดใน App
Store บนมือถือ โดยไส้ในของแอปฯ นี้ ไม่ได้มีแค่หน้าตาของแอปฯ
ที่มีความคล้ายคลึงกับแอปฯ ตัวจริง หรืออาจเป็นหน้าตาใหม่ที่ดูไม่คุ้นเคย
ประหนึ่งว่านี่คือแอปพลิเคชั่นใหม่ และยัดไส้แอปฯ ไว้ด้วยไวรัสต่าง ๆ
ที่เจาะข้อมูลตัวเครื่องได้
เมื่อเจาะเข้าระบบเครื่องได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มิจฉาชีพก็จะอาศัยจังหวะเข้าแอปฯ ต่าง ๆ ภายในเครื่อง
ระหว่างที่เราอาจจะละสายตาจากสมาร์ตโฟน หรือชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ตโฟนทิ้งไว้
โดยเข้าสู่ระบบ Mobile Banking ของธนาคารและเข้าไปแก้ข้อมูลต่าง ๆ
โดยเฉพาะวงเงินการโอนเงินไปบัญชีธนาคารต่าง ๆ ให้มีจำนวนที่สูงขึ้น
ก่อนจะโอนเงินออกจากบัญชีในที่สุด
และเหลือไว้เพียงยอดเงินหลักหน่วยจนถึงไม่เหลือเลย
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มีผู้เสียหายมีรายการโอนเงินไปสู่คนอื่นเป็นจำนวนสูง
และไม่รู้จักกับบัญชีปลายทางแต่อย่างใดและไม่มีธุรกรรมอะไรที่ต้องทำ เช่น
โอนเงินเพื่อซื้อของ โอนเงินจ่ายค่าอาหาร เป็นต้น
สวมเว็บปลอม หลอกเอาข้อมูล (ตบท้ายด้วยดูดเงิน)
การทำเว็บไซต์ปลอม หนึ่งในวิธีคลาสสิกที่เจอได้บ่อย
ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
โดยอาศัยการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้ดูเหมือนว่าเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ
หรือเว็บไซต์ของธนาคารต่าง ๆ จริง
เมื่อเหยื่อเชื่อว่าเป็นเว็บไซต์จริงของหน่วยงานนั้น ๆ
ก็กลายเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพดักเอาข้อมูลสำคัญต่าง ๆ
เพื่อนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็น Username Password
เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลข Laser ID หลังบัตรประชาชน เป็นต้น
เมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้แล้ว
ก็จะจบด้วยการที่เข้าไปเว็บไซต์จริง เพื่อโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อ
หรือมิจฉาชีพเอง อาจสวมรอย นำข้อมูลต่าง ๆ ไปทำธุรกรรมต่าง ๆ เอง
ซึ่งเจ้าของข้อมูลตัวจริงไม่ทราบเรื่อง และอาจทำให้โดนหางเลขความผิดต่าง ๆ
ไปด้วย ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เลย
ทำตัวเนียน อ้างเป็นแอป/บริการต่าง ๆ
การปลอมเป็นแอปพลิเคชั่นหรือบริการต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่พบได้บ่อย
โดยมิจฉาชีพจะอ้างเป็นบริการต่าง ๆ
ส่งอีเมลหรือข้อความเพื่อให้เข้าไปทำธุรกรรม โดยอาศัยอุบายว่า
มีปัญหาเรื่องการชำระค่าบริการ
และขอให้ลูกค้ากรอกข้อมูลบัตรเครดิต/บัตรเดบิต เพื่อให้ทำรายการให้สำเร็จ
หากมีข้อความ OTP ส่งเข้ามา แต่ไม่ได้กรอก
ก็ถือเป็นความโชคดีที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่หากให้รหัส OTP ไปแล้ว
ก็กลายเป็นเหยื่อที่ถูกดูดเงินไปโดยปริยาย
หนึ่งในจุดที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกต คือ ข้อมูลผู้ส่ง (Sender)
โดยเฉพาะผู้ที่ได้ข้อความทางอีเมล
อาจสังเกตแค่ชื่อผู้ส่งว่ามาจากแอปพลิเคชั่นหรือผู้ให้บริการต่าง ๆ
แต่ไม่ทันสังเกตอีเมลผู้ส่งว่า ไม่ใช่ E-Mail Address
ตัวจริงของผู้ให้บริการรายที่ถูกกล่าวอ้าง
ใช้ Remote Access อาศัยช่อง ดูดเงินในบัญชี
กลลวงนี้ ถือเป็นกลลวงที่ยุคใหม่เป็นอย่างมากสำหรับการโจรกรรม
ต่อยอดจากการหลอกลวงปกติที่เคยทำ
อย่างการส่งข้อความอ้างว่ามีการกระทำความผิด ให้ติดต่อที่บัญชีไลน์ (LINE
Account) ของหน่วยงานที่อ้างขึ้นมา
และมิจฉาชีพจะแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Remote Access
หรือแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล
เมื่อทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำแล้ว มิจฉาชีพก็จะทำขั้นตอนต่อไป คือ
การพูดคุยกับเหยื่อ ชวนคุยไปเรื่อย ๆ
เพื่อให้ผู้เสียหายหลุดโฟกัสจากการดูโทรศัพท์มือถือของตัวเอง
และมิจฉาชีพก็จะอาศัยช่วงเวลานี้ เข้าถึงหน้าจอมือถือและทำรายการต่าง ๆ
โดยที่เราอาจไม่ทันสังเกต
นับเป็นอีกหนึ่งกลโกงของมิจฉาชีพที่น่ากลัวไม่น้อย
เพราะข้ามขั้นจากการดักเอาข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกรรม
ขยับขึ้นมาเป็นการเข้าถึงมือถือและเข้าไปทำธุรกรมด้วยตัวเองแทน
อาศัยบอทสุ่มเลขบัตร ตัดเงินไม่ทันตั้งตัว
สำหรับกลโกงนี้ นับเป็นกลโกงที่ล้ำสมัยจนใครก็ไม่ทันตั้งตัว
เพราะมิจฉาชีพจะอาศัยระบบบอทในการสุ่มเลขบัตรเดบิต/เครดิต และข้อมูลต่าง ๆ
เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการซื้อของออนไลน์
วิธีการนี้ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะผู้ที่ถูกนำข้อมูลไปใช้กับเว็บไซต์ที่สามารถตัดเงินได้เลยโดยไม่ต้องเข้าระบบ
3D-Secure แต่อย่างใด
และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บัตรเฉพาะในประเทศไทย
มีมูลค่ามากถึงหลักร้อยล้านบาท และทำธนาคารต่าง ๆ ร้อน ๆ หนาว ๆ
หาวิธีการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้โดยด่วน
วิธีรับมือภัยไซเบอร์ใกล้ตัวคนไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยวิธีการรับมือ 3 กลุ่มกลลวงของมิจฉาชีพที่คนไทยพบบ่อยและใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด ดังนี้
1. มิจฉาชีพบน Social Media
1. อย่าหลงเชื่อข้อความผ่านแชทเพื่อขอให้โอนเงินหรือขอข้อมูลใด ๆ หาก
ผู้ส่งข้อความเป็นเพื่อน ควรติดต่อเพื่อนโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยัน
ตัวตนและจุดประสงค์ก่อน
2. ควรตรวจสอบสลิปโอนเงินจากผู้โอนให้มั่นใจก่อนยืนยันการโอนเงิน ทุกครั้ง
2. อีเมลหลอกลวง (Phishing)
ตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดก่อนตอบกลับหรือให้ข้อมูลใด ๆ ทุกครั้ง โดยใช้หลัก S.U.R.G.E
1. S (Sender) – สังเกตชื่อผู้ส่ง หากเขียนผิดหรือไม่สอดคล้อง ให้สงสัยไว้ก่อน
2. U (Unusual Activity) – หากมีคนหรือหน่วยงานที่เราติดต่อด้วย ส่งข้อความมาในรูปแบบหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ต้องระวัง
3. R (Relationship) – อย่าหลงเชื่อคนแปลกหน้าที่ส่งข้อความมาขอความช่วยเหลือ
4. G (Grammar) – หากเนื้อความมีการพิมพ์ผิดหลายคำ หรือแปลไม่ตรงหลักภาษา ต้องระวัง
5. E (External Link) – ตรวจสอบลิงก์ที่แนบมากับอีเมลที่ได้รับ
3. การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft)
1. ไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใด ๆ หากไม่จำเป็น
2. หมั่นติดตามข่าวสารด้าน Cybersecurity อย่างสม่ำเสมอ
หากพบว่ามีข่าวเว็บไซต์หรือบริการที่ท่านใช้งานอยู่ถูกขโมยข้อมูลไป
ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านหรือดำเนินการต่าง ๆ
เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อายัดบัตรเครดิตทันที
นอกจากวิธีการเหล่านี้แล้ว สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ
การใช้อุปกรณ์ที่มีการอัพเดตเวอร์ชั่นของอุปกรณ์อยู่เสมอ
เพื่อความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
และต้องไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ
เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และไม่เกิดความเสียหายอื่น ๆ
ที่จะตามมาด้วย
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1180540
X