ข่าวการเงิน
ทำไมผู้สูงอายุไทยต้องทำงาน เปิดจุดเปราะ หาทางออก สร้างรายได้ให้พอยาไส้
ประชากรผู้สูงอายุ 60
ปีขึ้นไปในประเทศไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปี 2566 มีประชากรอายุเกิน 60
ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
คนโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีลูกน้อยลง
ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มอยู่ตามลำพัง จะต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น
หากเงินออมไม่เพียงพอ หรือไม่มีเงินออม และยิ่งมีหนี้สินต้องชำระ
จะเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอยังชีพในวัยสูงอายุ
ไม่รวมถึงค่ารักษายามเจ็บป่วย ทำให้ต้องทำงานจนกว่าสภาพร่างกายจะไม่ไหว
เพราะเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐน่าจะไม่เพียงพอ
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า
กลุ่มแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบ 90% เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ
เป็นกลุ่มเปราะบางจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองการทำงานของแรงงานสูงอายุที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ
และการสำรวจปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานสูงอายุ 60-64 ปี
ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 418 คน มีประมาณ 1 ใน 5 เป็นแรงงานนอกระบบ
เคยมีสถานภาพเป็นแรงงานในระบบมาก่อน
ส่วนใหญ่เปลี่ยนสภาพการทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 50-51 ปี
โดยสัดส่วนมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 60-61 ปี
ได้ชี้ให้เห็นว่าโอกาสการทำงานแบบมีนายจ้าง
หรือได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการของแรงงานสูงอายุ
มีแนวโน้มลดลงตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น
แรงงานสูงอายุส่วนหนึ่งจำเป็นต้องปรับตัวออกมาทำงานส่วนตัว
โดยเฉพาะการขายของ หรือจำหน่ายสินค้า เช่น ขายอาหาร ขายของชำ ค้าขายทั่วไป
ขายของเก่า คิดเป็นสัดส่วน 34.2% รองลงมาทำงานรับจ้างทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น
เช่น รับจ้างเลี้ยงเด็ก ตัดเย็บเสื้อผ้า ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ขับแท็กซี่ ตัดผม ซักรีด ดูแลเลี้ยงเด็ก หรือดูแลผู้ป่วย คิดเป็นสัดส่วน
29.4%
ส่วนหนึ่งทำงานเป็นลูกจ้าง เช่น แม่บ้านทำความสะอาด ก่อสร้าง
ลูกจ้างในโรงงาน หรือโรงแรม คิดเป็น 22% ส่วนงานฝีมือ งานเครื่องจักร
และการประกอบ คิดเป็นสัดส่วน 5% ขณะที่งานบริหารจัดการธุรกิจ
ค้าขายกิจการของครอบครัว หรือธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นสัดส่วน 3.6%
งานระดับผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ คิดเป็น 2.6% งานด้านการเกษตร
1.7% และอาสาสมัครภาครัฐ 1.4% ซึ่งแรงงานผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคนอกระบบ และส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง
ผู้สูงอายุแรงงานนอกระบบ ไม่มีหลักประกันคุ้มครอง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเป็นอีกปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่จะต้องเตรียมรับมือโดยเร็ว
เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นสิ่งที่ “รศ.ดร.ยงยุทธ
แฉล้มวงษ์” ผู้อํานวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน
ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความกังวล
เพราะในอนาคต 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ
และมีจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องทำงานหารายได้เป็นแรงงานนอกระบบ
ไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ
“ผู้สูงอายุบ้านเราไม่มีรายได้เอาไว้ใช้สอย
เพราะเป็นแรงงานนอกระบบมายาวนานมาก ทำงานแบบไม่มีวันเกษียณ ประมาณ 20
ล้านคน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไร่ชาวนา และมีหนี้สินอีกต่างหาก หัวละประมาณ 2-3
แสนบาท เยอะมากๆ ต้องทำงานไปใช้หนี้ไป”
การแก้ปัญหาต้องปรับเรื่องสวัสดิการสังคม ทำคล้ายๆ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
หรือบัตรคนจน ส่วนใหญ่คนจนก็เป็นผู้สูงอายุมีประมาณ 5-6 ล้านคน
ซึ่งการช่วยเหลือไม่ได้ง่ายๆ หากผู้สูงอายุพอมีเงินออมคงพอไปได้
ขณะที่โครงการคนละครึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก
เพราะฉะนั้นควรตั้งกองทุนประกันสังคมเพื่อผู้สูงอายุ
ในรูปแบบสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40
โดยรัฐอุดหนุนจ่ายเงินสมทบให้เฉพาะคนที่จ่ายไม่ได้ ตั้งแต่เป็นวัยทำงาน
เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายในวัยเกษียณ
รวมไปถึงระบบสวัสดิการสังคมทุกระบบในบ้านเราล้าหลัง ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด
และต้องทำคู่ขนานกันไป
คนแก่ในเมือง ทำงานแลกค่าจ้างน้อยนิด ดูแลลูกหลาน
ปัจจุบันผู้สูงอายุซึ่งเป็นคนเมือง ต้องไปรับจ้างทำงานด้านบริการ
เพราะก่อนหน้านั้นช่วงโควิดระบาดก็จนไม่มีรายได้กันไปแล้ว
บางคนเมื่อขายของไม่ได้ก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบหาเงินมาลงทุน
กลายเป็นว่าผู้สูงอายุในเมืองจนดักดานจริง แตกต่างกับผู้สูงอายุในภาคเกษตร
เมื่อไม่มีรายได้ก็สามารถเก็บผักมาทำเป็นอาหารได้
โดยช่วงโควิดคนลำบากเป็นจำนวนมาก
เมื่อรัฐหยุดช่วยเหลือก็ยิ่งลำบากหนักกันไปใหญ่
ต้องพึ่งเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-700-800 บาทเท่านั้น
ถือว่าต่ำกว่าเส้นยากจน มันน้อยมากเหมือนจะให้กินข้าวเปล่ากับน้ำปลา
และบ้านคนชราก็ไม่มีให้อยู่
หรือการให้นโยบายว่าแต่ละครอบครัวจะต้องใส่ใจดูแลผู้สูงอายุ
แต่เมื่อครอบครัวยากจนไม่สามารถทำได้
สุดท้ายผู้สูงอายุต้องหารายได้ไปเลี้ยงลูกหลาน จากปัญหาการหย่าร้าง
และการพัฒนาความเจริญในแต่ละพื้นที่ของภาครัฐก็กระจุกตัว
ทำให้ที่ทำงานกับบ้านห่างไกลกันต้องมาทำงานกรุงเทพฯ
ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง
“ผู้สูงอายุในเมืองลำบากมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ 2
พันกว่าแห่งในกรุงเทพฯ ยังไม่รวมครอบครัวชายขอบอีกจำนวนมาก
ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก ก็ต้องไปรับจ้างรายวันหาเงินเลี้ยงลูกหลาน
และแรงงานนอกระบบไม่มีเกณฑ์อะไรในการคุ้มครองดูแล ได้ค่าจ้าง 100 หรือ 200
บาท ก็เอา เพราะกฎหมายบังคับไม่ได้ แค่ขอให้มีกินในแต่ละวันก็พอ
แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นมาก ทำให้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก”
โรงเตี๊ยมชุมชน 1 อบต. 1 โรงทาน ดูแลผู้สูงอายุ
ขณะนี้ผู้สูงอายุมีอายุยืนกันมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และกลุ่มเจน y
ช่วงต้นๆ เริ่มมีอายุมากขึ้น หรือประชากร 3 คนจะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน
หากเป็นชนชั้นกลางก็ยังพออยู่ได้ ไม่เป็นภาระของรัฐบาล
ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือควรมีงานให้ทำสร้างรายได้ในละแวกที่อยู่อาศัย
จะต้องดูแลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น เพราะหากรัฐมีภาระมากขึ้น
อาจล่มจมเหมือนประเทศเวเนซุเอลา
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาจะต้องดึงผู้สูงอายุมาร่วมเพิ่มผลผลิตในภาคบริการ
โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุปสงค์เทียม
ในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ชัดเจนกระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวให้มากขึ้น
และให้คนท่องเที่ยวเมืองรองให้มากขึ้น เพื่อให้เงินกระจายไปในชนบท
หรือทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร แม้ได้มูลค่าไม่สูง แต่ให้ความปลอดภัย
ทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีรายได้ อย่างชุมชนคุ้งบางกระเจ้า อ.พระประแดง
จ.สมุทรปราการ มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนประสบความสำเร็จ
“ถ้ารัฐบาลมีวิชั่น ก็สามารถทำได้
ต้องทำให้ครอบครัวเข้มแข็งมีรายได้ ผ่านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน
มีการรวมตัวทำผลิตภัณฑ์สร้างรายได้
และมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านการตลาดออนไลน์
สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้คนในชุมชนมีฐานะที่ดีขึ้น
จะได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบากได้
เพราะน้ำใจคนไทยยังมีอยู่ในการช่วยเหลือคนแก่ที่อยู่ตามลำพัง ให้มาช่วยงาน
มีเงินให้บ้าง มีการทำโรงเตี๊ยมในชุมชน หรือ 1 อบต. 1 โรงทาน มีที่อยู่
มีอาหารให้กิน และคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งก็ต้องกลับบ้าน”
ส่วนรายได้ต่อเดือนของผู้สูงอายุที่จะพออยู่ได้ ประมาณ 3 พันกว่าบาท
และมีสวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคอยดูแลยามเจ็บป่วย
หากอาศัยรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่พออย่างแน่นอน
โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่การช่วยเหลือของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชน ตามหลักการ “ไม่ให้ใครอดอย่างเด็ดขาด”
และค่อยๆ สร้างรายได้ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ให้ผู้สูงอายุมีเงินเหลือบ้าง
ในการไปทำบุญ หากช่วยตัวเองได้ ก็คงไม่อยากกินของฟรีไปตลอดชีวิต.
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2639281
X