ข่าวการเงิน

ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ใครได้ใครเสีย?


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แบงก์พาณิชย์เริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1% ต่อปี กระทบลูกหนี้ถ้วนหน้า โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของประชาชนคนไทยที่พุ่งทะลุฟ้าเกือบ 3 ล้านล้านบาท ส่วนเอกชนสุดเสี่ยงยืนปากขอบเหวรับมือต้นทุนการเงินเพิ่ม ค่าไฟฟ้า ค่าแรง บาทอ่อน 


มติของ กนง. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยขยับจาก 0.75% เป็น 1% ต่อปี ให้มีผลทันที โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ


ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2566 อยู่ที่ 2.4


ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง


กนง.ประเมินระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า

ส่วนครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)  วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ยังจะมีอีกอย่างน้อย 3 รอบ โดยการประชุม กนง.รอบถัดไปในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กรุงศรีฯ คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% และอาจจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว โดยการปรับดอกเบี้ยของ กนง.ดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น


ทันทีที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์พาณิชย์ก็เด้งรับขยับขึ้น โดยแบงก์กรุงเทพ นำหัวขบวน ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.15-0.50% ต่อปี และเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.30-0.40% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ตามที่ นางรัชนี นพเมือง  รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆ โดยเพิ่มขึ้นมา 0.30% ต่อปี


แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี ต้องถือว่าบรรดาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ และเสริมสภาพคล่องเพื่อจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ ยังคงไต่ทะยานไม่หยุด  


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้รุนแรงขึ้นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80% ของจีดีพีในปี 2562 และล่าสุดไตรมาส 2/2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88% ของจีดีพี


นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปสู่ลูกหนี้ โดยเดือน ก.ค. 2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดอยู่ที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ทยอยลดลงมาตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 2565 คงเหลือลูกหนี้อยู่ที่ 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม


เป้าหมายภายในปี 2565 ธปท.จะออกแนวทางการปัญหาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขหนี้ในระยะยาว และช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ครอบคลุมทั้งหนี้ก้อนใหม่ และลดการก่อหนี้เกินตัว โดยการแก้หนี้ครัวเรือนต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ




หนึ่ง ต้องทำอย่างครบวงจร ตั้งแต่ก่อก่อหนี้ ต้องสร้างวินัยการเงินให้ลูกหนี้ ส่วนเจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และช่วงเป็นหนี้ต้องสร้างกลไกช่วยลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้หนี้พอกพูน เช่น กลไล Risk-based Pricing คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงเข้ากับต้นทุนสำหรับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ส่วนช่วงที่มีปัญหาชำระหนี้ ควรมีกลไกสนับสนุนการแก้ปัญหาเพื่อช่วยลูกหนี้หลุดจากวงจรหนี้ได้ เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้นอกศาล หรือการแก้หนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย


สอง ต้องทำให้ถูกหลักการ แก้หนี้ให้ตรงจุดสอดคล้องกับปัญหาลูกหนี้ ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ในอนาคต ไม่ลดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ


และ สาม บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหนี้ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น ภาครัฐมีบทบาทในการสร้างรายได้ เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และภาคเอกชนต้องยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง ส่วนลูกหนี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ไม่ก่อหนี้เกินตัวและมีวินัยในการชำระหนี้


ไม่เพียงหนี้ครัวเรือนที่น่าห่วงจากดอกเบี้ยเบ่งบาน ในด้านของผู้ประกอบการก็ถือว่ามาอยู่ในจุดที่สุดเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เมื่อบวกกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากค่าบาทที่อ่อนตัวลง ต้นทุนพลังงานที่ยังเป็นขาขึ้น ค่าแรงที่เพิ่งปรับ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปให้ได้ และที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ การลงทุนของภาคเอกชนจะชะลอตัวลงหรือไม่


นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่าดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนการเงิน อาจทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นก็เป็นไปได้ ผู้ประกอบการต้องหาทางรับมือด้วยการลดต้นทุนธุรกิจ โดยปรับสินค้าให้เข้ากับกำลังซื้อที่เริ่มหดตัวลงและทำราคาให้สามารถแข่งขันได้ ส่วนหนี้ที่มีอยู่เดิมก็ต้องเร่งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อผ่อนปรนหนี้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีผลต่อการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ยาก อย่างการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนใหม่ไม่มี ธุรกิจเดิมเดินต่อได้ยาก


ทางด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นพ้องว่าผู้ประกอบการกำลังอยู่ในจุดที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งต้องรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าเงินบาทอ่อน ผู้กำหนดนโยบายจะต้องหาจุดสมดุลสำหรับทั้งสองฝ่ายที่ได้ประโยน์และเสียประโยชน์


อย่างไรก็ดี นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม เนื่องจากการอ่อนค่าของบาทเป็นผลมาจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงมาก ทำให้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกือบทุกประเทศในโลกนี้มีค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ฉะนั้นการที่เงินบาทอ่อนลงไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะเศรษฐกิจไทย หากมองการอ่อนค่าของเงินบาทแค่ในภูมิภาคเอเชีย ไทยยังอยู่ระดับกลางๆ อ่อนลงมา 12% ตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่าลงน้อยกว่าไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเกาหลี


ทั้งเงินเฟ้อและค่าบาทอ่อนเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับความผันผวน และดกำหนดมาตรการที่เหมาะสมออกมารองรับ


หันกลับมาดูเงินในมือของภาครัฐบ้าง ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติอนุมัติแผนก่อหนี้สาธารณะ ประจำปี 2566 โดยเป็นการก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ 


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า แผนก่อหนี้ฯ ดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วยแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่


การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง


ในแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ (หนี้ในประเทศ) วงเงินรวม 30,500 ล้านบาทนั้น นอกจากแผนงานของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ที่กู้มาทำโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR67) เสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ กัมพูชา วงเงิน 500 ล้านบาทแล้ว วงเงินกู้ก้อนใหญ่ส่วนที่เหลือเป็นของสำนักกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เมื่อมีพระราชกำหนดฯ


นอกจากนั้น ยังมีการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่างๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง)


ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ


นายอาคม ยืนยันว่าภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 70


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์

https://mgronline.com/daily/detail/9650000094147

X