ข่าวการเงิน

ถอดรหัส "อัตราดอกเบี้ย" แต่ละแบบ "ต่างกันอย่างไร"


ความต่างของดอกเบี้ย ซึ่งมีหลายแบบ โดยเงินกู้แต่ละประเภทก็มีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เหมือนกัน และธนาคารแต่ละแห่งก็คิดดอกเบี้ยผู้กู้ แต่ละรายไม่เหมือนกันด้วย


ในช่วงที่ "ดอกเบี้ย" ขาขึ้นแบบนี้ หลายคนที่มีเงินกู้ ทั้งกู้บ้าน กู้รถ กู้สินเชื่อ หรือ บัตรเครดิต เริ่มหันมาคำนวณต้น คำนวณดอก ยอดหนี้ว่าตอนนี้ดอกทบต้น ต้นทบดอกไปเท่าไหร่แล้ว


ขณะที่ คนที่กำลังตัดสินใจกู้ก็ยิ่งศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะรู้หรือไม่ว่า สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยกับผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะสูง หรือ ต่ำ กว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อแต่ละราย โดยบวกอัตราเพิ่มหรือลดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่กำหนด




ทีนี่ "เรามาถอดรหัสศัพท์ดอกเบี้ย" แต่ละแบบกันว่าแตกต่างกันอย่างไร

เริ่มที่ประเภทการคิดดอกเบี้ย

1. ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก  คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นคงเหลือที่ลดลงจากงวดก่อนหน้า เมื่อเงินต้นลดดอกเบี้ยจะลดลงไปด้วยใช้ในการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เป็นต้น

2. ดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน หารเฉลี่ยเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยเป็นค่างวดให้จ่ายเดือนละเท่าๆ กัน มักใช้กับการเช่าซื้อรถ

มาต่อที่ "ประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้"

อัตราดอกเบี้ย (Fixed rate) กำหนดเป็นตัวเลขคงที่ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน เช่น ดอกเบี้ยคงที่ 7% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว (Floating rate) เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน แบ่งเป็น 3 ประเภทตามกลุ่มลูกค้าสินเชื่อ คือ 

1. MLR (Minimum Loan Rate) ใช้กับผู้ขอสินเชื่อรายใหญ่ชั้นดี ประวัติการเงินดี หลักทรัพย์เพียงพอ น่าเชื่อถือใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ

2. MOR (Minimum Overdraft Rate) ใช้กับวงเงินเบิกเกินบัญชี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ โดยสถาบันการเงินจะเก็บดอกเบี้ยเมื่อมีการเบิกเงินเกินวงเงินออกมาใช้

3. MRR  (Minimum Retail Rate) ใช้กับลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ข้อมูล : ธนาคารแหง่ประเทศไทย

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับpptvhd36
X