ประกันภัย
บริษัทประกันภัย ตีความและใช้งานงบการเงินอย่างไร ?
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions [ABS]
เคยมีคนสงสัยว่า ทำไม Actuary ถึงมีความเกี่ยวข้องกับงบการเงิน (Financial Report) ด้วย เพราะส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่า Actuary มีหน้าที่คำนวณเบี้ยประกันภัยเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะนั่นเป็นเพียงแค่งานหน้าบ้านเท่านั้น ส่วนงานหลังบ้านที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ การมีส่วนรับผิดชอบในงบการเงิน (Financial Report) ร่วมกับฝ่ายบัญชีด้วย
โดยฝ่ายบัญชีจะเน้นการนำเอาตัวเลขที่เป็นเงินสด เช่น เบี้ยประกันภัยรับ หรือค่าสินไหมทดแทน มาลงในบัญชี ส่วน Actuary จะคำนวณเอาตัวเลขที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย หรือรายรับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมาประมาณการให้แม่นยำที่สุด แล้วบันทึกในงบการเงิน (Financial Report)
ดังนั้นถ้าจะให้ถามหาความแตกต่างระหว่าง Actuary และนักบัญชี ก็คงจะได้คำตอบประมาณว่า นักบัญชีจะนำเอาตัวเลขที่เกิดขึ้นในอดีตมาใส่ในงบการเงิน (Financial Report) ให้ถูกต้องตามระบบมาตรฐานสากล หลังจากนั้น Actuary จึงจะประเมินบริษัท
โดยสร้างสมมุติฐานต่าง ๆ เพื่อประมาณสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วจึงนำเอาตัวเลขมาใส่ในงบการเงิน (Financial Report) อีกทีหนึ่ง ส่วนความสามารถในการประเมินอนาคตของ Actuary นั้น คำทั่วไปที่ใช้ประจำคือ การนั่งเทียนอย่างมีเหตุผล (Educated Guess) นั่นเอง
ตัวอย่างของตัวเลขที่เห็นได้ชัดว่าจะต้องมี Actuary เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอนคือ การตั้งเงินสำรองกรมธรรม์เพื่อให้เพียงพอกับกรมธรรม์ในแต่ละกรมธรรม์ และก็ต้องมาทำให้เข้ากับระบบบัญชีในแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่กำหนดในประเทศ (Local Regulation) หรือแบบที่กำหนดตามมาตรฐานสากล (General Accepted Accounting Principle)
โดยบางบริษัทก็มีระบบบัญชีที่ต้องทำให้ถูกต้องอยู่ประมาณ 4-5 แบบ เช่น แบบที่กำหนดในประเทศ แบบที่กำหนดเพื่อคำนวณภาษี แบบที่กำหนดตามผู้ถือหุ้นในออสเตรเลีย แคนาดา และอเมริกา เป็นต้น
แล้วทำไมงบการเงิน (Financial Report) ของบริษัทประกันภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ นั่นเพราะว่างบการเงิน (Financial Report) จะบอกถึงสภาวะที่บริษัทมีกำไรหรือขาดทุน และมีเงินทุนที่เผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน เหลืออยู่เท่าไหร่ที่จะสามารถนำไปชำระคืนให้กับผู้ถือกรมธรรม์ได้ ทำให้หน้าที่หลักของ Actuary อีกอย่างหนึ่งคือ การดูผลประกอบการ กำไรหรือขาดทุนของบริษัท รวมทั้งเงินทุน (Capital) ที่บริษัทมีเหลืออยู่
แล้วการที่จะแสดงผลกำไรหรือขาดทุนได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่า Actuary จะประเมินการตั้งเงินสำรองกรมธรรม์ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร ที่สำคัญก็คือ ถ้าปีไหน Actuary เปลี่ยนแปลงการตั้งเงินสำรองกรมธรรม์ให้ลดลง ก็จะทำให้บริษัทแสดงผลกำไร พุ่งปรี๊ดอย่างทันตาเห็น
แต่การจะเปลี่ยนการตั้งค่าเงินสำรองกรมธรรม์ในแต่ละปีนั้น ต้องอาศัยความรู้ความสามารถในเชิงลึก และวิจารณญาณ (รวมไปถึงจรรยาบรรณ) ของคนที่เป็น Actuary อีกทั้งประเทศไทยก็มี Actuary ที่อยู่ในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คอยดูแล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง สังเกตได้ดังนี้
1. ทิศทางของกำไร/ขาดทุนของบริษัท (Trend of Profit) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เพราะสภาพแวดล้อมในตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
2. แหล่งที่มาของกำไรของบริษัท (Source of Profit) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ Actuary ควรจะวิเคราะห์
3. การวางแผนอย่างเป็นระบบของบริษัท (Strategic Planning) ก็เป็นสิ่งที่ Actuary จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยทุกครั้ง เป็นการวางแผนล่วงหน้า
4. รู้อย่างลึกซึ้งว่า หนี้สิน (Liability) และสินทรัพย์ (Asset) รวมทั้งเงินทุน (Capital) นั้น คำนวณมาได้อย่างไรในระบบมาตรฐานต่าง ๆ
ในการจะทำงบการเงินระบบมาตรฐาน (Financial Reporting Standard Framework) นั้น จะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมที่ใช้อยู่ในประเทศนั้น ๆ ก่อน และการตีความจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้ผู้บริหารได้ใช้ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาตัดสินใจ อีกทั้ง Actuary จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ด้าน ที่ต้องการใช้งบการเงิน (Financial Report) เหล่านี้
“ไม่ใช่ทำงบการเงินมาแล้วไม่มีใครอ่าน” งบการเงินที่ดี ถ้าทำเสร็จแล้วต้องมีคนอ่าน และคนอ่านสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ด้วย
X