เปิดกระบวนการฟอกเงินสีเทาให้เป็นสีขาว
ทั้งกลุ่มยาเสพติด พนันออนไลน์ ค้ามนุษย์ คอร์รัปชัน
ล้วนแต่ใช้วิธีเดียวกัน ‘ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต’ อาจารย์นิติศาสตร์ มสธ.
แจง ‘15 รูปแบบ’ การฟอกขาว บางอย่างเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
รวมทั้งมีการแสวงหาผู้ถูกรางวัลที่ 1 เพื่อใช้เงินสีเทาซื้อสลากฯ
กลายเป็นเงินถูกกฎหมายได้ทันที ขณะเดียวกัน การใช้บ่อนกาสิโนฟอกเงิน
ทำได้ง่ายๆ ระบุเทคโนโลยีทำให้แก๊งมิจฉาชีพพัฒนารูปแบบ
ส่งผลให้หน่วยงานรัฐยากต่อการตรวจสอบ ทั้งบัญชีม้า สกุลดิจิทัล
มั่นใจกฎหมายไทยตามไล่หลัง แต่เอาผิดได้แน่!
กระบวนการฟอกเงินสีเทาๆ ให้กลายเป็นเม็ดเงินสีขาวได้โดยง่าย
ซึ่งส่วนใหญ่เงินดังกล่าวมีที่มาจากการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์
การพนันออนไลน์ การคอร์รัปชัน และการประกอบธุรกิจสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ
ปัจจุบันกระบวนการฟอกเงินได้มีการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการฟอกเงินไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
จนทำให้เกิดความซับซ้อนยากต่อการตรวจสอบและติดตามร่องรอยทางการเงิน
เนื่องจากมีขบวนการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติไปแล้ว
อย่างไรก็ดี หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ปปง. ป.ป.ช.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์
ก็ได้ผนึกกำลังความร่วมมือเพื่อปราบปราม จับกุม
ยึดทรัพย์บรรดาผู้กระทำผิดดังกล่าว ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญเงินสีเทาๆ เหล่านี้ บางรูปแบบก็ผ่านกระบวนการฟอกเงินที่เราอาจคาดไม่ถึง!
ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า
การฟอกเงินคือการนำเงินที่ผิดกฎหมายมาผ่านกระบวนการแปรสภาพทรัพย์สิน
ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน
แชร์ลูกโซ่ การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ เป็นต้น
โดยกระบวนการฟอกเงินจะมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงิน
เพื่อซุกซ่อนทรัพย์สิน ปกปิดความเป็นเจ้าของที่แท้จริง
ปกปิดแหล่งที่มาที่ผิดกฎหมาย
และเป็นกระบวนการที่ทำให้ดูเสมือนว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยจะดำเนินการผ่าน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. การนำทรัพย์เข้าสู่ระบบ
เป็นกระบวนการขั้นแรกในวงจรการซักฟอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด
โดยมีการจัดการเงินสดจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย
โดยเคลื่อนเงินสดจากสถานที่สามารถถูกตรวจสอบได้
เพื่อจะหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าพนักงาน
และจะเปลี่ยนสถานะจากเงินเป็นทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์ เช่น
การนำเงินสดฝากเข้าธนาคารหรือสถาบันการเงิน
โดยอาจผสมกันกับเงินหรือผลกำไรที่ได้จากธุรกิจถูกกฎหมาย
การนำเงินสดออกนอกประเทศ การใช้เงินสดซื้อสินค้าที่มีราคาสูง
ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจ
หรือในบางกรณีตามที่สังคมจะได้ยินข่าวว่ามีคนที่เกี่ยวข้องกับเงินดังกล่าว
เอาเงินสดไปซุกซ่อนไว้ในบ้าน หรือแอบซ่อนใส่ตู้เซฟ
สำหรับวิธีการเอาเงินสดเก็บไว้ในบ้านคือการฟอกเงินประเภทหนึ่งแม้ว่าจะไม่ได้แปรสภาพจากเงินตัวเดิมก็ตาม
2. การทับซ้อนธุรกรรม
เป็นขั้นตอนที่อาชญากรพยายามที่จะซ่อนเร้นหรือเปลี่ยนแปลงที่มาของความเป็นเจ้าของเงินสกปรก
จะกระทำโดยการคิดขั้นตอนที่ซับซ้อนในการกระทำธุรกรรมทางการเงิน
โดยที่จะหลบเลี่ยงการตรวจสอบและไม่ถูกบ่งชี้ตัวบุคคล
เพื่อที่จะตัดความสัมพันธ์ของเงินสกปรกจากแหล่งที่มาอันผิดกฎหมาย
โดยเจตนาทำธุรกรรมที่ซับซ้อนเพื่อมิให้ถูกตรวจสอบที่มาและเจ้าของเงิน
วิธีการเช่น การโอนเงินไปบริษัทในต่างประเทศ
หรือบริษัทบังหน้าที่ก่อตั้งอย่างถูกกฎหมายแต่ก่อตั้งมาจากทุนที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย
การนำทรัพย์สิน
หรืออสังหาริมทรัพย์ที่นำเงินสกปรกไปซื้อมาขายเลหลังหรือขายต่ออีกทอดหรือหลายๆ
ทอด เช่น นำเงินที่ผิดกฎหมายไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ นำเงินไปซื้อทองคำ
จากนั้นนำทองคำไปขาย เมื่อขายทองคำเสร็จนำเงินไปซื้อรถหรู ซื้อรถหรูเสร็จ
นำไปซื้อหุ้นในตลาดหรือทำอย่างอื่นต่อ
เพื่อให้มีความซับซ้อนในการทำธุรกรรมหลายๆ ชั้น
เพื่อจะทำให้การติดตามเส้นทางการเงินได้ลำบาก
3. การปนทรัพย์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ
เป็นขั้นตอนที่เงินถูกทำให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างถูกกฎหมาย
รวมไปถึงทรัพย์สินต่างๆ
ที่ได้จากการกระทำความผิดก็เข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายด้วย เช่น
การโอนเงินผ่านระบบที่ซับซ้อน (ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ)
ซึ่งทำให้การแกะรอยทางการเงินไม่สามารถกระทำได้ หรือกระทำได้อย่างยากยิ่ง
การแสดงรายได้ที่ถูกฎหมาย ซึ่งมาจากการขายธุรกิจ
หรือสินทรัพย์ของธุรกิจที่ใช้เงินสกปรกซื้อ
‘ผศ.ดร.สุพัตรา แผนวิชิต’ อาจารย์นิติศาสตร์ มสธ.
ผศ.ดร.สุพัตรา บอกว่า จากการศึกษาและติดตาม พบว่า
รูปแบบการฟอกเงินจากในอดีตที่ผ่านมากับปัจจุบันมีความแตกต่างกันตรงที่ในยุคนี้จะมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งการใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำธุรกรรม เช่น ระบบการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์
และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน
เช่น การใช้เงินสกุลดิจิทัล
โดยนำเงินที่ได้จากการทำความผิดไปซื้อเงินดิจิทัลสกุลต่างๆ พวก
Cryptocurrency แล้วก็ไปแลกเปลี่ยนกันใน ตลาด Crypto
ซึ่งจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการโอนเงินไปที่ไหน อย่างไร
เพราะว่าไม่สามารถตรวจสอบที่มาของเงิน
รวมทั้งไม่สามารถระบุตัวตนความเป็นเจ้าของเงินสกุลดิจิทัลได้
“การซื้อขายยาเสพติดอาจจะเป็นการใช้ตัว Cryptocurrency ในการซื้อขาย
ทำให้เกิดความยากในการตรวจสอบ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าทลายแก๊งยาเสพติด
แก๊งพนันออนไลน์ แก๊งค้ามนุษย์ สุดท้ายเราจะได้เงินสด รถหรู บ้าน
แต่พวกเงินดิจิทัลจะไม่ปรากฏ เพราะไม่สามารถเข้าดูได้ มันจะมีรหัส private
key ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจมีอยู่จำนวนมากๆ ก็ได้”
“ที่สำคัญมิจฉาชีพอาจใช้บัญชีกระเป๋า Crypto Cryptocurrency
ซึ่งไม่ได้เปิดใช้บริการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย
ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
แต่ใช้ตัวกลางในต่างประเทศเป็นช่องทางในการซื้อขาย
เมื่อไม่ได้ผ่านตัวกลางที่ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทย
จึงเป็นการยากในการตรวจสอบและติดตาม สืบสวนสอบสวนผู้กระทำความผิด”
ส่วนรูปแบบการฟอกเงินที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังดำเนินการอยู่มีทั้งหมด 15 รูปแบบ
1. จะมีการนำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ที่สถาบันการเงินต่างๆ รวมไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ที่มีการตั้งขึ้นมา
2. การนำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่มีราคาสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถหรู ทองคำ
เพชรพลอย เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
3. การฟอกเงินผ่านการลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตร
4. การแลกเปลี่ยนหรือซื้อเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเอาเงินสดติดตัวออกนอกประเทศ
5. การขนเงินสดผ่านแดน/ทางเรือ/ทางบก
6. การนำเงินไปฟอกผ่านการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
โดยการเอาเงินสีเทาไปจ่ายเบี้ยประกัน
สุดท้ายจะได้เงินปันผลซึ่งเป็นผลประโยชน์กลับมา
และถ้าจ่ายครบตามสัญญาก็จะได้เงินก้อนกลับมา เงินที่มาจากกรมธรรม์
จะดูเหมือนว่าเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย
7. การนำเงินไปฟอกผ่านการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล
โดยไปขอซื้อรางวัลที่ 1 หรือรางวัลอื่นจำนวนมากๆ จากคนที่ถูกรางวัล
จากนั้นนำไปขึ้นเงินจากสำนักงานสลากฯ โดยอาจจะให้คนอื่นมาขึ้นแทนก็ได้
และเงินที่ได้รับมานั้นย่อมจะมีที่ไปที่มาชัดเจน
ส่วนจะหาคนที่ถูกรางวัลได้ที่ไหนเพื่อจะไปซื้อรางวัลจากเขานั้น
ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะจะเห็นมีการตั้งโต๊ะรับซื้อรางวัลตามสถานที่ต่างๆ
ซึ่งคนที่ฟอกเงินจะรู้และเสาะแสวงหาได้
8. การนำเงินไปฟอกเงินผ่านการประกันวินาศภัย โดยประกันทรัพย์สินที่มีราคาสูงแล้วทำลายทรัพย์สินที่ทำประกัน
9. การฟอกเงินผ่านบ่อนกาสิโนที่ถูกกฎหมายในต่างประเทศ
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกาสิโนที่ถูกกฎหมาย
แต่ในต่างประเทศมีกาสิโนถูกกฎหมาย
จึงมีการนำเงินไปฟอกด้วยการเอาเงินไปเล่นในกาสิโน
และการที่เราได้เงินมาจากกาสิโนที่ถูกกฎหมายจากต่างประเทศจะเป็นที่มาอันหนึ่งว่า
เงินนี้ได้มาจากกาสิโนที่ไปเล่นมา
“วิธีการไม่มีอะไรซับซ้อน คือ การนำเงินที่ผิดกฎหมายไปเล่น
ได้เงินมาเท่าไหร่ก็จะมีที่มาว่าได้เงินมาจากการเล่นในกาสิโนที่ถูกกฎหมาย
คือการนำเงินสดที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมายไปแลกชิปกาสิโน
พอเข้าไปเล่นการพนันแล้ว ได้เท่าไหร่ก็จะมีหลักฐานการจ่ายเงินจากกาสิโน
และพอโดนอายัดทรัพย์สิน
เวลาที่แจ้งจะบอกว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีที่มาจากการเล่นกาสิโน
โดยใช้ประกอบกับหลักฐานในหนังสือเดินทาง ก็บอกว่าไปเล่นที่นี่มา
ที่เป็นกาสิโน มีที่แลกเงินตรงนี้
ในกรณีดังกล่าวจะต้องมีการพิสูจน์ตั้งแต่ต้นทางว่าเงินที่ไปแลกมาเป็นเงินที่มีที่มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
10. การฟอกเงินผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล bitcoin cryptocurrency เพื่อซื้อสินค้าและบริการ
11. การนำเงินไปฟอกเงินโดยผ่านการซื้อบัตรเงินสด (e-money)
คือการเอาเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้อบัตรเงินสดในรูปแบบต่างๆ เช่น
บัตรทางด่วน บัตรกำนัลซื้อของ บัตรที่มีมูลค่าในตัวเอง
และใช้เงินไปตามมูลค่าบัตรนั้น ก็เป็นการฟอกเงินไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
12. การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เพื่อปกปิดร่องรอย
ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการ e-payment จะต้องรายงานธุรกรรมต่างๆ
ไปที่สำนักงาน ปปง.
13. การนำเงินไปฟอกผ่านบัญชีม้า ซึ่งถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดต่างๆ
ทั้งความผิดเกี่ยวกับการพนัน ฉ้อโกง ยาเสพติด
ในอดีตพบว่ากลุ่มที่มีการนำบัญชีม้าไปใช้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด
กลุ่มวงการพนัน
รวมทั้งกลุ่มนอมินีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง
ปัจจุบันการติดตามทรัพย์สินมีปัญหาเรื่องบัญชีม้าซึ่งสร้างความยากลำบากมากในการติดตามทรัพย์สิน
และดำเนินคดี
14. การจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจการบังหน้า แต่เบื้องหลังคือการฟอกเงิน
15. การใช้ระบบโพยก๊วนหรือธนาคารใต้ดิน เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบ
โดยจะทำผ่านร้านการแลกเปลี่ยนเงิน ผ่านวิธีการเครดิต เดบิตเงิน
โดยไม่มีการนำเงินออกมา ไม่มีการนำเงินข้ามประเทศจริงๆ
อย่างบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเรา
คือจะมีการถือคำสั่งโอนเงินให้สาขาประเทศนั้นปล่อยเงินไปให้คนในบัญชีที่ระบุไว้
ซึ่งสาเหตุที่เราต้องมีโพยก๊วน เพราะว่าไม่ต้องการแสดงตัวตนในการโอนเงิน
และหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนเงิน
ผศ.ดร.สุพัตรา กล่าวทิ้งทายว่า
การฟอกเงินผ่านสถาบันการเงิน หรือทำธุรกรรมต่างๆ
ระบบของหน่วยงานรัฐจะสามารถเชื่อมโยง ทำให้สามารถตรวจสอบและดำเนินคดีได้
แต่สิ่งที่ตรวจสอบยากจะเกี่ยวข้องกับการใช้บัญชีม้า การโอนเงินใต้ดิน
การแลกเปลี่ยนเงิน และพวกเงินดิจิทัลทั้งหลาย ซึ่ง ปปง.และหน่วยงานรัฐต่างๆ
ได้มีการแก้กฎหมายที่จะสามารถดำเนินคดีต่อคนที่เกี่ยวข้องได้
แม้ว่าจะทำงานไล่ตามหลังพวกแก๊งมิจฉาชีพก็ตาม!
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/specialscoop/detail/9660000015549