คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ประกันสุขภาพ

โรคอะไรบ้างนะที่ประกันสุขภาพปฏิเสธ

30/04/2024

คนส่วนใหญ่คงพอจะเข้าใจกันแล้วว่า “ประกันสุขภาพ” สามารถจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาได้ แต่จะมีซักกี่คนล่ะที่รู้ว่าประกันสุขภาพเขาก็ไม่ได้คุ้มครองทุกการเจ็บป่วยของเรานะ ดังนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ วางแผนการซื้อประกันสุขภาพได้อย่างคุ้มค่า เราไปดูกันว่ามีอะไรที่ไม่คุ้มครองบ้างจะได้ไม่ต้องมานั่งเครียดในภายหลังโรคที่เกิดขึ้นระหว่าง “ระยะเวลารอคอย”หมายเหตุ ช่วงเวลาของ “ระยะเวลารอคอย” ของแต่กรมธรรม์นั้นอาจแตกต่างกันไปตามข้อตกลงของแต่ละบริษัทโรคที่เป็นมาอยู่แล้วและยังไม่หายขาดคนบางส่วนตอนทำประกันสุขภาพมักไม่ค่อยอยากกรอกความจริงเรื่องโรคประจำตัว หรือประวัติการรักษาลงไป เพราะกลัวว่าเบี้ยประกันจะสูง หรือกลัวบริษัทประกันไม่รับทำประกันของตน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะหากมีการตรวจสอบแล้วเจอในภายหลัง บริษัทประกันมีสิทธิยกเลิกกรมธรรม์ได้ และที่สำคัญผู้เอาประกันจะไม่สามารถเคลมค่ารักษาที่เกิดขึ้นได้ ต้องจ่ายเองและเจ็บเองสำหรับการพิจารณา โรคที่เป็นมาอยู่แล้ว และยังไม่หายขาด โดยทั่วไปบริษัทประกันจะพิจารณาจากระยะเวลาที่เราหายป่วยจากโรคนั้นๆ มาส่วนใหญ่ถ้าไม่ถึง 5 ปี หรือเพิ่งหาย บริษัทประกันก็จะปฏิเสธไม่คุ้มครองโรค หรืออาการเหล่านี้โรคร้ายแรง (บางโรค)หากในกรณีที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคร้ายแรงบางโรคที่ประกันสุขภาพไม่คุ้มครองก็มีสิทธิอดเคลมเหมือนได้เช่นกัน ซึ่งจะมีโรคไหนบ้างนั้น ก็ตามนี้เลย1. โรคทางพันธุกรรม/โรคที่เป็นมาแต่กำเนิด2. โรคที่เกิดจากการแปลงเพศ3. โรคที่เกิดจากการติดสุราเรื้อรัง และสารเสพติดทุกชนิด4. โรคติดต่อทางเพศ เช่น HIV5. โรคที่เกี่ยวกับการตั้งรครรภ์6. โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้านอกเหนือจากนี้ยังการยกเว้นค่ารักษาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนี้1. การรักษาที่ไม่ได้มาจากคำสั่งของแพทย์2. การรักษาในระยะทดลอง3. การรักษากับแพทย์ทางเลือก4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ยกเว้นโรคพิษสุนัขบ้า และบาดทะยัก5. การตรวจสุขภาพเพื่อหาโรค6. การตรวจสายตา7. โรคตาที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์8. การตรวจและรักษาการได้ยิน9. การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของวัย10. ค่าอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น ไม้เท้า11. ค่าผ่าตัดอวัยวะ12. ค่าบริการที่เรียกเก็บล่วงหน้า13. โรคที่เกี่ยวกับผิวพรรณ เช่น สิว ฝ้า รังแค ผมร่วง14. การรักษาหรือการบำบัดกรณีติดยาเสพติด บุหรี่ และเหล้าเงื่อนไขของประกันสุขภาพอาจจะดูเยอะแยะวุานวาย แต่ถ้าให้เปรียบกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่รอต่อคิวเข้ามาในร่างกายเราแล้วนั้น เงื่อนไขพวกนี้ก็ดูจะเล็กน้อยลงไปทันที ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างแผนรองรับภาระค่ารักษาของตนเองในอนาคต noon คิดว่าการทำประกันสุขภาพเผื่อไว้ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลกรมธรรม์ให้ดีด้วยนะเพราะแต่ละบริษัทอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ท่องไว้นะว่า รู้เขา รู้เรา ได้กรมธรรม์ที่ตรงใจแน่นอนขอบคุณที่มาดี๊ดี : tqm, moneyhub, thairath, huginsurance,muangthai-agent,คปภ.แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับnoon bloghttps://www.noon.in.th/blog/illness-condition-of-health-insurance/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

คุณมีเงินล้านกันหรือยัง? หากยังไม่มีนี่คือทางลัดที่นำไปสู่การเป็นมหาเศรษฐี

30/04/2024

คำถามของผู้ที่อยากจะมีความมั่งคั่งในชีวิต คือทำไมการประสบความสำเร็จทางการเงินในชีวิตจึงเป็นเรื่องยาก?, อะไรคือสิ่งที่คนรวยมักทำในทุกวัน?, มีสูตรลับในการสะสมความมั่งคั่งหรือไม่? ตามการศึกษาในหนังสือ Rich Habits ของผู้เขียน Tom Corley ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินที่ใช้เวลาถึง 5 ปี ในการสังเกต และจดบันทึกกิจกรรมประจำวันของเหล่าผู้มั่งคั่งจำนวน 223 คน โดยทั้งหมดมีรายได้รวมประจำปีอย่างน้อย 160,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.8 ล้านบาท) และมีทรัพย์สินสุทธิ 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 117 ล้านบาท) ซึ่งผลการศึกษาสามารถสรุปออกมาเป็น 4 เส้นทางหลักในการเป็นมหาเศรษฐี ดังต่อไปนี้ 1. เส้นทางนักลงทุนผู้ประหยัด ไม่ว่างานประจำของพวกเขาจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมส่วนตัวคือการประหยัด และนำเงินไปลงทุน เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของพวกเขา ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มคนในลักษณะนี้จะหาวิธีเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเองอยู่เสมอ 2. เส้นทางไต่เต้าสายบริษัท เส้นทางนี้เป็นของพนักงานที่เข้าไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ พร้อมทั้งอุทิศเวลาและพลังงานทั้งหมดไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งระดับสูง แน่นอนว่าด้วยตำแหน่งที่สูง เงินเดือนก็เยอะตามไปด้วย 3. เส้นทางอัจฉริยะ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างเก่ง ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และได้รับค่าตอบแทนสูงตามความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ เช่น มีใบปริญญาระดับสูงด้านกฎหมาย หรือแพทยศาสตร์ 4. เส้นทางนักฝัน คนในกลุ่มนี้ล้วนแต่เป็นนักแสวงหาความฝัน ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มต้นอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง, อยากเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ, เป็นนักดนตรีหรือนักเขียนที่มีผลงานขายดี พวกเขาเหล่านี้จะใช้ความรักที่มีอยู่ในความฝันเลี้ยงชีพ และหลงใหลไปกับเงินที่เข้ามาในบัญชีธนาคาร ในหนังสือระบุอีกว่า เส้นทางนักฝันเป็นเส้นทางที่จะทำให้รวยเร็วที่สุด โดยประมาณ 28% จากการศึกษาเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ โดยพวกเขามีความมั่งคั่งเฉลี่ย 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 271 ล้านบาท) มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และใช้เวลาในการสะสมความมั่งคั่งสู่การเป็นเศรษฐีไม่ถึง 12 ปี นี่คือเส้นทางสู่การเป็นเศรษฐีที่ใช้เวลาเร็วที่สุด และคุ้มค่าที่สุด รวมถึงเป็นเครื่องมือการันตีว่าจะได้รับเงินมากที่สุดด้วย พิจารณาจากลิสต์ Forbes 400 โดย 7 ใน 10 ของมหาเศรษฐีที่รวยสุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น Jeff Bezos, Bill Gates, Mark Zuckerberg และ Michael Bloomberg ล้วนเป็นพวกช่างฝันที่อยากจะร่ำรวยจากการมีบริษัทเป็นของตัวเอง แม้จะมีผลลัพธ์ที่สวยหรู แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ เพราะกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านกับอุปสรรคมาอย่างโชกโชน ผ่านการทำงานมาอย่างหนักหน่วงเฉลี่ย 65-75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแทบจะไม่มีวันหยุดเลย ที่มา:cnbc แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับsmartsme https://www.smartsme.co.th/content/248100

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ชีวิตจริงไม่เหมือนในตำรา บทเรียนการลงทุนจาก 10 เซียนหุ้นไทย

30/04/2024

บทเรียนการลงทุนจาก 10 เซียนหุ้นไทย วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือมือเก่า มืออาชีพหรือมือสมัครเล่น ร้อยทั้งร้อยต่างอาจเคยสงสัยในตนเองอยู่เสมอว่า ตลอดชีวิตเส้นทางการเป็นนักลงทุนของคุณนั้น ทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว ความสุขใจ และทุกข์ใจ หรือทุกก้าวย่างตลอดเส้นทางที่เดินผ่านมา สิ่งเหล่านั้นจะสามารถผลักดันและนำพาคุณไปสู่เป้าหมายที่วาดฝันไว้ได้จริงหรือไม่ “ชีวิตจริงไม่เหมือนในตำรา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนมือใหม่ ที่เมื่อแรกเริ่มได้มีโอกาสทำความรู้จักกับโลกแห่งการลงทุนอันแสนวุ่นวายและคลุมเครือ ความลังเลสงสัย ความเดียวดาย และความสับสนอาจทำให้การเริ่มต้นในเส้นทางการเป็นนักลงทุนของเหล่ามือใหม่ต้องพบเจอกับความยากเย็นเข็ญใจ บทความชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการสรุปรวมความคิดรวบยอด ข้อคิด และบทเรียนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ของเหล่า “นักลงทุนมืออาชีพ” ที่กลั่นกรองจากประสบการณ์การลงทุนอันยาวนาน แก่นสารหรือสาระสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ในทุกตัวอักษรจากนี้เป็นต้นไป อาจเป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยให้นักลงทุนมือใหม่สามารถก้าวข้ามผ่านจุดเริ่มต้นได้อย่างมั่นคงเสมือนมีเครื่องรางยึดเหนี่ยวสภาพจิตใจ ขณะเดียวกันสำหรับนักลงทุนมือเก่าก็ยังสามารถดูดซึมแก่นสารเหล่านี้ประหนึ่งเพื่อการตกตะกอนทบทวนชีวิตของตนเองอีกครั้ง และก้าวเดินต่อไปอย่างผู้ที่ “เข้าใจในชีวิต” มากขึ้นกว่าคุณคนเมื่อวาน มี่ : ทิวา ชินธาดาพงศ์ เราไม่มีทางรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน จะเจ็บป่วยหรือตายเมื่อไหร่ การมีสติอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนหรือประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีพอร์ตหุ้นเท่าไหร่ หรือมีเงินมากมายมหาศาลเพียงใด หากนำมาคูณกับศูนย์ ผลลัพธ์มันก็เท่ากับศูนย์ การมีเงินเป็นพันล้านหมื่นล้าน เมื่อนำมาคูณกับความตาย มันก็เท่ากับความว่างเปล่า หากคุณหลงระเริงเล่นกับระบบทุนนิยมไปเรื่อย ๆ เพียงไม่นาน คุณก็จะเคลื่อนย้ายกระบวนการหรือวิธีการเดินทางไปสู่เป้าหมาย ให้กลายไปเป็นเป้าหมายเสียเอง “การหาเงินกลายเป็นเป้าหมายหลักในชีวิตไปเสียแล้ว” เรื่องที่สัมพันธ์กันก็คือ อคติทางการลงทุนที่ร้ายแรงใด ๆ ก็ไม่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและสภาพจิตใจได้เท่ากับการ “คิดเข้าข้างตัวเอง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างที่ใจเราต้องการ” ในตำราการลงทุนทุกแขนงจึงพร่ำบอกคุณเสมอว่า “คุณควรเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น” คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับความผิดพลาดด้วยตนเองไปเสียทุกเรื่องหรอก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความผิดพลาดนั้นเผยตัวในชีวิตคุณขึ้นมาจริง ๆ แล้วล่ะก็ มันอาจสายเกินไปที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาดังเดิม ในชีวิตคุณนั้นต้องการเงินหรือความสุข “สำหรับผม เงินเป็นเพียงส่วนประกอบของความสุขเหล่านั้น” หากมีทัศนคติเช่นนี้ ก็อาจทำให้เราจัดการกับความโลภ ความกลัว และสภาวะความตึงเครียดจากการลงทุนหรือการทำงานหาเงินได้บ้าง การตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ จะมีเหตุมีผลมากขึ้น มันเป็นเรื่องของการบริหารสภาวะจิตใจ ซึ่งสามารถทำให้คุณลงทุนและอยู่ในตลาดหุ้นได้อย่างมีความสุข ชาย มโนภาส “การบริหารความเสี่ยงและความรู้ คือสิ่งสำคัญของการเป็นนักลงทุน” ใครที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดหุ้น อยากให้ทุ่มเท พยายามค้นคว้า ศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอก่อนเป็นลำดับแรก ในช่วงเริ่มต้นวิถีชีวิตนักลงทุน คุณไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจให้มากนักว่าผลตอบแทนจะแพ้หรือชนะตลาด จะลงทุนแล้วได้กำไรมากหรือน้อยกว่าคนอื่นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ขอเพียงแค่คุณพยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้อย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปีก็ดีมากแล้ว “เมื่อใดก็ตามที่คุณมีความรู้มากขึ้น คุณจะเป็นนักพนันน้อยลง” หากไม่ขยันไขว่คว้าหาความรู้ คุณอาจจำเป็นต้องเปิดรับความเสี่ยงมากมายมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย อาหารหน้าตาสวยพริ้งที่วางเกลื่อนกลาดมากมายอยู่บนโต๊ะนั้น มิใช่ว่าจะสามารถหยิบมากินได้อย่างสบายใจทุกจาน หากคุณยังไม่รู้จักว่ายาพิษหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งใดที่ไม่เข้าใจและไม่มั่นใจก็อย่าเข้าไปยุ่งหรือมีส่วนร่วมกับมัน หากคุณตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าชีวิตนี้ต้องการที่จะเป็นนักลงทุนหุ้นอย่างจริงจัง ก็ควรค่อย ๆ ไป ค่อย ๆ เดินทีละก้าวอย่างมั่นคงจะดีกว่า “นักลงทุนนั้นเฉือนกันที่รายละเอียด” ทุกสิ่งทุกอย่างมีรายละเอียดซ่อนอยู่เสมอ การ์ดจะตกไม่ได้ หากชะล่าใจเมื่อใดก็โดนเตะก้านคอเมื่อนั้น คุณอาจเคยได้ยินผู้มากประสบการณ์บอกเล่าย้ำเตือนกันมาบ้างว่า สร้างวิธีการ หรือกระบวนการลงทุนของคุณให้ง่ายเข้าไว้ แล้วจะดีเอง คำว่าง่ายกับไม่ใส่ใจนั้นมีเส้นบาง ๆ ขวางกั้นอยู่ “อันที่จริงแล้ว มันควรเป็นความง่ายที่โอบคลุมไปด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียดมากกว่า” หลิน : วีระพงษ์ ธัม ในโลกแห่งการลงทุนนั้นสามารถเกิด “Black Swan” ได้เสมอ (เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง) จริง ๆ แล้วมิได้จำกัดเฉพาะอยู่ในโลกแห่งการเงินหรือการลงทุน วงการใดก็ตามที่ซึ่งสามารถ “Massively Scalable” (ความสามารถในการขยายตัวได้อย่างมหาศาล และอย่างรวดเร็ว) วงการนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์ “Black Swan” อย่างต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างค่อนข้างแน่นอนก็คือเหตุการณ์ “Winner Take All” (การกินรวบ) ในสังคมนักลงทุนนั้นช่องว่างระหว่างผู้ที่ประสบความสำเร็จ และผู้ที่พบกับความล้มเหลว ขยายถ่างออกจากกันอย่างไม่มีวันบรรจบ สิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติอยู่เสมอคือ “การทบทวนตนเอง” มีสติรู้เท่าทันความคิดของตนเอง หากคุณตระหนักแล้วว่าโลกที่คุณอยู่นั้นเต็มไปด้วย “Black Swan” คุณจำเป็นที่จะต้องขยันให้มากเป็นพิเศษ พยายามให้มากเป็นพิเศษ และระวังตัวให้มากขึ้นเป็นพิเศษ คุณจึงจะมีสิทธิ์ยืนอยู่เหนือค่าเฉลี่ยในนามของผู้ชนะ ฮง : สถาพร งามเรืองพงศ์ การที่คุณมีความเชื่อ และเบื้องหลังความเชื่อนั้นเต็มไปด้วย “ความฝัน เป้าหมาย การศึกษาหาความรู้ แผนการ วิธีการ เครื่องมือ และระเบียบวินัย” หากคุณหลงใหล มุ่งมั่น และทุ่มเทเตรียมความพร้อมขนาดนี้ คงเรียกได้ว่า “ความศรัทธา” แต่หากคุณไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเป้าหมายและความฝันของตัวเอง ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการและเครื่องมือที่จะนำพาคุณไปพบกับความสำเร็จ แถมยังมีความเชื่ออย่างที่ไม่คิดตั้งคำถาม นี่คือ “ความงมงาย” การที่คุณมีความเชื่อและความศรัทธามุ่งมั่นพร้อมแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าแผนการและวิธีการของคุณจะราบรื่น หลายครั้งก็ประสบพบเจออุปสรรคมากมาย อยู่ที่ว่าคุณจะอดทนอยู่กับมันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ? คำนึงถึงความล้มเหลว ความผิดพลาด และความสิ้นหวังไว้บ้าง การศรัทธาในความฝัน และการศรัทธาในตนเอง ส่วนหนึ่งคงขึ้นอยู่กับอุปนิสัยส่วนบุคคล เช่น ความวิตกกังวล ความไม่เชื่อมั่นในตนเอง สิ่งที่สามารถช่วยเป็นที่พักพิงในยามที่คุณหวั่นไหวและอ่อนแอเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ คือ “การพาตนเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความศรัทธา” ทั้งการอ่านหนังสือดี ๆ หรือรับฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนรอบข้าง สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่านำพาตนเองไปอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ไม่มีความฝัน อีกทั้งยังชอบทำลายความฝันของชาวบ้านในทุกวิถีทาง สิ่งเหล่านี้อาจเอื้อประโยชน์ให้คุณศรัทธาในตนเองมากขึ้น “ผมเชื่อเรื่องความพยายาม มุ่งมั่น ทุ่มเท และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น สิ่งที่ผมเป็น สิ่งที่ผมได้รับในทุกวันนี้ มันเพียงพอและเหมาะสมแล้ว กับสิ่งที่ทุ่มเทพยายามมาโดยตลอด” แล้ววันนี้คุณได้ตั้งใจเดินตามความฝันอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยัง ? ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา อย่าทำสิ่งใดที่เกินไปกว่าขอบเขตความรู้ของตนเอง นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาเรื่องการลงทุน อยากให้ลองเริ่มต้นด้วยวิธีการกลับไปคิดทบทวนตนเองดูสักครั้งว่า ณ ปัจจุบัน ด้วยสถานะทางการเงินส่วนบุคคล อายุ อาชีพ ความสามารถ และรายได้ คุณควรจัดสรรปันส่วนเงินที่มีอย่างไร บางคนทุ่มเทเวลาให้กับการลงทุนมาก ดูหุ้นตลอดเวลาจนเสียการเสียงาน ส่งผลให้ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน อาชีพหลักที่สร้างรายได้ สร้างกระแสเงินสดมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทำได้อย่างไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะเหมาะสมกับเส้นทางนี้ก็ได้ คงไม่มีใครรู้นอกจากตัวคุณเอง แต่ผมขอพูดตรง ๆ ว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่เหมาะ “การเป็นนักลงทุนอาชีพ หรือนักลงทุนเต็มเวลา (Full time Investor) นั้นไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน” มีคนเพียงไม่เกิน 5% ที่เหมาะสม ชีวิตมีความสมดุล มีความสุข และสามารถประสบความสำเร็จได้ในเส้นทางดังกล่าว นักลงทุนผู้มั่งคั่งหรือเหล่าเซียนหุ้นชื่อดังทั้งหลายที่เราพบเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ กันในทุกวันนี้คือ คนส่วนน้อยในกลุ่ม 5% นั้น ส่วนกลุ่มคนที่เหลืออีก 95% ซึ่งนำเงินทั้งส่วนตัวและเงินกู้มาลงทุน จากนั้นก็เจ๊ง ขาดทุน และล้มหายตายออกจากตลาดหุ้นไป ก้มหน้าก้มตาทำงานเก็บเงินเพื่อประกอบสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ พวกเขาไม่เคยมีโอกาสมานั่งเล่าเรื่องราวชีวิตอันสุดแสนขมขื่นให้คุณฟัง บางคนก็ไม่กล้าพอที่จะระลึกหรือกล่าวถึงความล้มเหลวของตนเอง” โจ ลูกอีสาน : อนุรักษ์ บุญแสวง การเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนชนชั้นทางสังคม จากชนชั้นล่างหรือกลาง ไปสู่การเป็นชนชั้นสูงที่ยืนอยู่เหนือค่าเฉลี่ย ผมคิดเห็นว่ามีเพียงไม่กี่วิธีที่สามารถทำได้จริง และผมเชื่อเสมอว่าการลงทุนในหุ้นเป็นอีกวิธีการหนึ่งซึ่งอาจลงมือปฏิบัติจริงได้ค่อนข้างง่ายที่สุดสำหรับคนธรรมดา หลักการลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จนั้นคุณต้องการเพียงแค่สองสิ่งคือ “เงินตั้งต้น” จะมีมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งสำคัญอย่างที่สองคือ “แนวคิด” เพื่อเป็นโครงสร้างหลักเข้ามากำหนดแผนการ วิธีการ และกระบวนการลงทุน หลายคนชอบพูดว่า “ฉันไม่มีเงิน หรือเงินต้นน้อย ชีวิตนี้ฉันไม่มีวันร่ำรวยหรอก” อยากจะบอกเพิ่มเติมว่าชีวิตส่วนตัวผมก็เริ่มต้นมาจากเงินหลักแสน และตลอดเส้นทางการลงทุนก็ไม่เคยนำเงินจากแหล่งรายได้อื่นใส่เข้าไปเพิ่มเลย มีแต่จะถอนออกมาทุกปีเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายและเลี้ยงลูก ผมเคยพูดเสมอว่าประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นคือ “แนวคิด” เงินก้อนเล็ก ๆ หากใช้ควบคู่ไปกับวิธีการที่ถูกต้องก็สามารถเพิ่มพูนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ ส่วนเงินก้อนใหญ่หากใช้วิธีการที่ผิด มันก็มลายหายไป ผมมีความเชื่อและความศรัทธา ว่าวิธีการดังกล่าวนี้สามารถปฏิบัติได้จริง มันเป็นไปได้จริง ๆ สำหรับชนชั้นกลาง ขอเพียงอย่างเดียวว่าคุณอย่ามีข้ออ้างเยอะ หลายคนพอได้ยินเรื่องความรวย หรือเรื่องอิสรภาพทางการเงิน ก็เกิดข้ออ้างเยอะแยะมากมายไปหมด ไม่มีเงินบ้าง มีเงินน้อยบ้าง มีรายจ่ายจุกจิก ภาระมากมาย ไม่มีมรดกตกทอดเหมือนใคร ๆ เขา ไม่ได้เรียนจบเมืองนอกมานี่หน่า “สุดท้ายเพียงแค่ฝัน คุณยังไม่กล้าที่จะฝันเลย แค่ก้าวแรกคุณก็ล้มเหลวแล้ว คุณจะเดินทางไปต่อได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อเลยแม้สักบาทเดียวคือความฝัน คุณต้องมีความฝันก่อน จากนั้นให้ความฝันนำทางชีวิตคุณ คนที่มีความฝัน อุปสรรคใด ๆ ก็มาฉุดรั้งพวกเขาไว้ไม่ได้หรอก” พี : พีรนาถ โชควัฒนา “เมื่อพระเจ้าให้สิ่งตอบแทนแก่มนุษย์ ท่านมักให้มาเกินกว่าที่ร้องขอเสมอ เมื่อท่านได้ข้อพิสูจน์แล้วว่าคุณคือมนุษย์ที่น่าไว้วางใจและพึ่งพาได้” จุดสูงสุดของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอาจเป็นเพียง “การให้” บางสิ่งบางอย่าง กลับคืนสู่สังคม เท่านั้นเอง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คุณอาจลองสังเกต “วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)” ดูก็ได้ว่าในอดีตที่ผ่านมา แทบไม่เคยมีปีไหนเลยที่บัฟเฟตต์โด่งดังจากการทำผลตอบแทนได้แบบมหาศาลหลายเด้ง หลายเท่าตัว หรือทำผลตอบแทนสูง ๆติดอันดับโลก แล้วมาลองคิดดูสิว่าในทุกวันนี้เขาเป็นอย่างไร ? โดยส่วนตัวผมแล้วจะค่อย ๆ ดูผลตอบแทนรวมจากพอร์ตการลงทุนเป็นรายปี ตรวจสอบว่าปีนี้ทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าผลตอบแทนยังเป็นบวก เพียงเท่านี้ผมมีความสุขแล้ว จากนั้นก็ปล่อยมันไป หุ้นในพอร์ตจะสลับกันขึ้นหรือลง ก็อย่าไปเสียดายหรือเสียใจอะไรทั้งสิ้น ตราบใดที่ทฤษฎีซึ่งอยู่เบื้องหลังหุ้นแต่ละบริษัทที่คุณถือครองอยู่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่คุณคาดการณ์ไว้ พยายามอยู่กับมันต่อไป หากคุณอยากเป็นนักลงทุนมืออาชีพ อยากจะรวยจากหุ้นจริง ๆ อย่างที่นักลงทุนวีไอไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาร่ำรวยเป็นร้อยเป็นพันล้าน คุณก็ต้องศึกษาหาความรู้อย่างหนัก ต้องทุ่มเทพัฒนาตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานประจำที่กำลังทำอยู่ หากคุณสามารถบริหารจัดการเวลาส่วนตัวได้ มันมีทางออก สามารถทำควบคู่กันไปได้ ยุคสมัยนี้การศึกษาหาข้อมูลนั้นง่ายดายกว่าสมัยก่อนเยอะ ส่วนตัวผมเองที่มีโอกาสร่ำรวยจากตลาดหุ้นไทย อันที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยได้ออกไปพบเจอบริษัทหรือผู้บริหารสักเท่าไรนักหรอก เพียงหมั่นศึกษาเอาจากข้อมูลทั่วไปที่คุณและผมสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันนี่แหละ มันสามารถประสบความสำเร็จได้ สุดท้ายก็จงมีความรับผิดชอบ ทำงานประจำของคุณให้ดีที่สุด เพราะผลตอบแทนมันมีแต่บวก ทำงานไปเรื่อย ๆ ลงทุนไปเรื่อย ๆ เมื่อรายได้มากขึ้น คุณก็สามารถเก็บออมเงินได้มากขึ้น จากนั้นนำเงินรายได้จากการทำงานโยกย้ายมาเป็นรายได้จากการลงทุนให้มากขึ้นไปอีกต่อหนึ่ง “นี่คือพลังแห่งการทบต้นของผลตอบแทนอย่างแท้จริง” ไม้ฟืน : พะเนียง พงษธา ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ้าง บางครั้งก็อยากกลับไปลุยเรื่องหุ้นอย่างหมกมุ่นหลงใหลเสมือนเมื่อแรกครั้งก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดหุ้นใหม่ ๆ เพราะเราเห็นโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ถามตัวเองกลับไปว่า ถ้าอีกหนึ่งปี หนึ่งเดือน หนึ่งสัปดาห์ หรือว่าวันพรุ่งนี้ เราจะไม่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร เราจะอยากทำสิ่งนี้ต่อไปไหม นั่งถวายตัว ถวายชีวิตเพื่อการหาเงินในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ผมก็เกิดความกลัวขึ้นมา ขอให้เราอย่าเพิ่งตายเลยนะ ขอดูแลครอบครัวก่อน ยังไม่มีเวลาให้แม่เลย อยากจะปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น อยากทำประโยชน์กับสังคมให้มากกว่านี้อีก ผมยังเอ้อระเหยอยู่เลย การตั้งคำถามเช่นนี้อาจทำให้ได้รู้ว่าอะไรสำคัญกับชีวิตเราจริง ๆ ผมยังมีชีวิตรอดอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อทำในสิ่งที่ตั้งใจจะทำเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าวันไหนจะตายแล้วไม่ได้ทำมันต่อไปอีกแล้ว แต่วันนี้แค่ได้ทำก็พอแล้ว การหมั่นตั้งคำถามเพื่อสำรวจตรวจสอบตนเองอาจทำให้เราไม่มองข้ามสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ในชีวิตไป สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ “แม่” ผมไม่เคยพูดมาก่อนเลย แม่รักและให้กำลังใจผมมาตลอด ตั้งแต่เป็นเด็ก ไม่ว่าผมจะทำผิดพลาดเรื่องอะไรมา ล้มเหลวในตลาดหุ้น ถึงแม่จะเสียใจ แต่ก็ให้กำลังใจกันเสมอ “แค่รู้ว่าอะไรไม่ดีก็อย่าไปทำ ชอบการลงทุนก็ตั้งใจศึกษานะ ล้มเหลวไปแล้วก็อย่าผิดแบบเดิมอีก อย่าทำผิดพลาดอะไรซ้ำ ๆ นะ” ถ้าไม่มีแม่ก็ไม่มีผมในทุกวันนี้ ที่เรามีอยู่ และที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะคนอื่นให้มาทั้งนั้น มันเหมือนเราเป็นศูนย์รวมของขวัญ มีแต่คนหวังดีมอบของขวัญให้เรา จะให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นเราก็ควรมอบของขวัญส่งต่อให้คนอื่นด้วย การที่ผมเป็นผมแบบทุกวันนี้ ทั้งความสำเร็จ ทัศนคติ ไม่ใช่เพราะว่าผมเก่งกว่าใคร ๆ แต่มีผู้คนมากมายอยู่เบี้องหลังความสำเร็จเสมอ มีอาจารย์ มีเพื่อน มีกัลยาณมิตร หรือแม้กระทั่งคนที่ทำไม่ดีต่อเรา แต่เราก็ได้เรียนรู้จากพวกเขามากมาย เป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนให้เรามีชีวิตแบบนี้ ฉะนั้นแล้วอย่าคิดว่าตนเองเก่งอยู่คนเดียว โยโย่ : สันติ สิงหวังชา หากปวารณาตนแล้วว่าเราคือ “นักลงทุนวีไอ (Value Investing)” ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างยึดโยงอยู่กับพื้นฐานกิจการของบริษัท และมีมุมมองการลงทุนในระยะยาว ต่อให้เราจะซื้อหุ้นมา แล้วขายได้กำไร เมื่อราคาวิ่งขึ้นไปจนแพงกว่ามูลค่าพื้นฐาน เหตุเพราะช่วงเวลานั้นผู้คนส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน จนกระทั่งผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นไป แต่สุดท้ายแล้วในระยะยาวกิจการก็ไม่ได้วิเศษอย่างที่ใจคิด เราก็ควรจะต้องยอมรับว่า “ผลตอบแทนการลงทุนส่วนหนึ่งอาจเป็นผลลัพธ์จากโชคชะตา” หากเราถูก ในเหตุผลที่ผิด อนาคตคงก้าวเดินต่อไปอย่างผิดทิศผิดทาง การยอมรับความจริงก็ไม่เสียหายอะไร คงไม่ถึงขนาดที่ว่าวิชาความรู้ซึ่งอุตส่าห์สั่งสม ทุ่มเทศึกษาด้านการลงทุนมันจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าหรอก มันมีประโยชน์เสมอ ต้นทุนซึ่งแพงที่สุดไม่ใช่เงินทอง หรือเวลา ที่คุณสูญเสียไปกับการศึกษาหาความรู้ หากแต่เป็นชุดความรู้ ความเชื่อ หรือทัศนคติแบบผิด ๆ ที่ถูกถ่ายทอดมาจาก “คนที่ไม่ได้รู้จริง” ซึ่งนี่คือเรื่องใหญ่ มันจะทำให้คุณหลงทางอย่างกู่ไม่กลับ “การเปิดรับข้อมูลที่ผิดพลาดมาใส่สมอง คือความเสียหายอันใหญ่หลวงเกินกว่าเงินทองและเวลามากมายนัก” จากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าคุณจะลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม คุณควรจะต้องมีกฎเกณฑ์ทางการลงทุนเป็นของตนเอง และมีวินัยให้มากพอที่จะไม่ก้าวข้ามเส้นนั้นออกไป “กฎเกณฑ์คือแผนการ” ซึ่งเราออกแบบไว้ล่วงหน้าในสถานการณ์ปกติ เพื่อหยิบฉวยมาใช้ในยามเหตุการณ์ไม่ปกติที่คุณมีอคติก่อเกิดขึ้นในจิตใจ และนึกเสมอว่าตนเองคิดอย่างมีเหตุผล แต่อันที่จริงแล้วความคิดนั้นไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก “BLACK SWAN วันมืดมิด ในชีวิตการลงทุน” EP.1-10 โดยลงทุนแมน และสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) อ้างอิงข้อมูลจาก https://board.thaivi.org/viewtopic.php?p=1950884 แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1098350

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

แหล่งเงินเกษียณ 4 ก้อนของมนุษย์เงินเดือนมาจากไหน มีเท่าไหร่จึงจะพอใช้หลังเกษียณ

30/04/2024

ยินดีต้อนรับสู่เดือนแรกของการเกษียณในเดือนตุลาคมนี้ ของผู้ที่ทำงานในระบบราชการ ช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงของการเกษียณอายุของผู้ที่ทำงานในระบบราชการ ซึ่งเป็นความโชคดีของผู้เกษียณในกลุ่มนี้ที่ไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องการใช้จ่ายดำรงชีวิตหลังเกษียณมากนัก เพราะในวันเกษียณยังมีเงินก้อนและเงินเกษียณในระดับประมาณ 70% ของเงินเดือนก่อนเกษียณมาใช้จ่ายทุกเดือน ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนที่แหล่งเงินเกษียณของผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนจะมาจากหลายช่องทาง แต่ทั้งหมดต้องเกิดจากวินัยและการสะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานในช่วงทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จึงจะเห็นยอดเงินที่มากพอที่จะสามารถนำมาใช้ดำรงชีวิตต่อได้หลังเกษียณ ในวันที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ต้องมีทั้งเงินและสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ คำถามที่สำคัญสำหรับคนทำงานเอกชนที่ต้องมีวินัยในการเก็บเงินเกษียณด้วยตนเอง คือเมื่อปลายทางของการเกษียณแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ จากแหล่งไหนบ้าง และมากพอที่จะใช้หลังเกษียณหรือไม่? สำหรับผู้ที่อยากจะเกษียณอย่างมีความสุขและมีเงินใช้จ่ายมากเพียงพอเรามาวางแผนกันล่วงหน้าสำหรับการเกษียณ โดยเรามาดูแหล่งเงินได้ ของผู้ที่จะเกษียณจากเอกชนว่าจะมาจากช่องทางไหนบ้าง และมีช่องทางไหนที่เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างเม็ดเงินที่เติบโตให้เพียงพอในวันเกษียณ 1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงินที่เราได้รับเงินจากรัฐบาลเดือนละ 600 – 1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต ขั้นตอนการขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ต้องไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต กทม. อบต. หรือเทศบาล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คนไทยทุกคนเมื่ออายุ 60 ปีมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพอย่างเท่าเทียม ยกเว้นใครมีเงินเหลือเฟือสามารถที่จะบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนกระทรวงการคลังเพื่อนำไปสมทบและจ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เงินเท่าไหร่การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้– อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน– อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน– อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน 2. เงินบําเหน็จบํานาญชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะได้รับเงินเป็นก้อน (เงินบําเหน็จ) หรือทยอยรับเงินเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต (เงินบํานาญ) ขึ้นอยู่กับระยะเวลานําส่งเงินเข้ากองทุน โดยสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน *กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย*กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย+1.5% ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน ตัวอย่าง ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ 1. ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%= 5 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ปรับเพิ่ม) ×5 ปี) = 7.5%รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี = 20%+7.5% = 27.5%ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 1.5 หมื่นบาท = 4,125 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต 2. กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน= 4,125 บาท×10 เท่า = 41,250 บาท 3. เงินได้จากการเลิกจ้าง กรณีเราทํางานกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมาย แรงงาน จํานวนเงินที่ได้รับในวันเกษียณขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทํางานและเงินเดือน คนที่ทราบเรื่องนี้แล้ว ก่อนเกษียณอย่าชิงลาออกก่อนจนพลาดเงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ อัตราค่าชดเชยตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน   * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป บได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ตัวอย่าง ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี เงินเดือน 100,000 บาท นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 ร้อยวัน ดังนั้น ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชย คือ ให้นำเงินเดือนอัตราสุดท้าย 100,000 บาท หารด้วย 30 (30 วัน) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นค่าจ้างรายวันเท่ากับ 3,333.33 บาท และนำไปคูณด้วย 300 วัน ได้เท่ากับ 1 ล้านบาท โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีในวันเลิกจ้าง 4. เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ” (Provident Fund หรือ PVD) เป็นเงินที่จะได้รับจากเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบที่นายจ้างนําส่งเข้ากองทุนพร้อมดอกผลจากการลงทุนในช่วงที่เป็นสมาชิกกองทุน และหากเกษียณอายุตามเงื่อนไขภาษีที่กรมสรรพากรกําหนด กล่าวคือ เกษียณตอนอายุครบ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน (เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงิน สะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ทั้งหมดคือแหล่งเงินเกษียณ 4 ก้อนของมนุษย์เงินเดือน ใครจะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถและฐานเงินเดือนของแต่ละบุคคลว่าได้เท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความต่อเนื่องของการทำงานที่ยาวนานมากพอและการเก็บออมรวมถึงการลงทุน เพื่อปลายทางในวันเกษียณที่มีเงินเพียงพอและไม่เป็นภาระลูกหลาน แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับการเงินธนาคาร https://www.moneyandbanking.co.th/article/the-guru/4-sources-of-retirement-income-for-salaried-people-october-14102022

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

คริปโตช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้อย่างไร?

30/04/2024

แม้ว่ากระแสการลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ดูเหมือนจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากจากการที่ตลาดเข้าสู่ภาวะขาลงแบบไม่รู้ตัว แต่สำหรับประเทศที่มีฐานะยากจนแล้ว เหรียญคริปโตมีความหมายต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เป็นเวลากว่าหลาย 10 ปีแล้วที่ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการกระจายรายได้มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีความมั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้เหลื่อมล้ำมากเมื่อเทียบกับคนรวยส่วนน้อย ตัวอย่างเช่นในปี 2022 ข้อมูลจาก Statista ได้เปิดเผยว่า ประชาชนอเมริกันที่รวยมั่งคั่งกว่า 10 % มีการถือครองทรัพย์สินเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่กว่า 70 % กล่าวคือเมื่อเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่กว่า 90 % แล้ว ประมาณ 30 % มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง หรือหากหยิบยกกรณีตัวอย่างของประเทศแอฟริกาใต้นั้น ประชาชนที่รวย 10 % มีความมั่งคั่งเท่ากับรายได้ของประชาชนกว่า 65 % ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าถึงระบบการเงินการธนาคาร โดยที่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยกู้ยืมให้ผู้มีฐานะทางสังคมได้ใช้เงินส่วนนี้ลงทุน โดยการเข้ามามีอิทธิพลของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ถือเป็นการเข้ามาที่ท้าทายระบบการเงินการธนาคารที่มีอยู่แต่เดิม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ทำให้หลายคนมองว่า พวกเขาสามารถใช้ช่องทางนี้ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเข้าถึงรายได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนจากการเก็งกำไรสูงไม่แพ้หุ้นขนาดเล็กหรือตราสารประเภทฟิวเจอร์ หรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต้องใช้เงินมัดจำในการซื้อขายสูง ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงที่ตลาดคริปโตกำลังบูมใหม่ ๆ จู่ ๆ ก็มีการเล่นข่าวเกี่ยวกับเศรษฐีหน้าใหม่ที่ทำเงินได้จากการลงทุนคริปโตในช่วงที่เหรียญบิทคอยน์เพิ่งเกิดใหม่ๆ หลายประเทศเริ่มรับคริปโต เช่นกันหลายประเทศที่กำลังพัฒนาเริ่มอาศัยการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยคริปโตมากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศเอลซัลวาดอร์ที่รัฐบาลได้เปิดกว้างเรื่องคริปโตอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ประเทศอย่างเฮติกับตองกาเองก็เริ่มมีการใช้เหรียญ USDC กับ Tether เข้ามาประคับประคองให้ชีวิตของพวกเขาได้ลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งจะต้องไม่ลืมว่าการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยคริปโตสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับระบบ SWIFT ที่อาจมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจสอบที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลานานกว่า แม้ทางด้านวอร์เรน บัฟเฟตต์กับบิล เกตต์จะมีทัศนคติเชิงลบต่อคริปโตเป็นอย่างมากก็จริง แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะว่า พวกเขาอยู่กับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอยู่แต่เดิมมาช้านาน แต่สำหรับคริปโตแล้วถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับโลกใบนี้ และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการให้คริปโตพิสูจน์ตัวเองในระยะยาว ข้อมูลจาก : https://cointelegraph.com/news/how-cryptocurrency-could-help-tackle-global-income-inequality แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ https://www.posttoday.com/post-next/model-business-era/1743

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

วิจัยฮาร์วาร์ดชี้หากคุณอยากรวยให้คบเพื่อนฐานะร่ำรวยตั้งแต่เด็ก แล้วเงินเดือนจะมากกว่าคนอื่น 20%

30/04/2024

เชื่อว่าคนแทบทุกคนล้วนอยากมีฐานะที่ “ร่ำรวย” เพราะหากเรามีความมั่งคั่งทางการเงินแล้ว โอกาสต่าง ๆ ในชีวิตตามมามากมาย โดยที่ผ่านมานั้น เราได้เห็นวิธีการสร้างความร่ำรวยในรูปแบบต่าง ๆ จากเหล่ากูรู เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ว่าจะเป็น การมีรายได้หลายทาง, การลงทุนเพื่อสร้าง Passive Income แต่รู้หรือไม่ว่า? บางทีอาจจะค้นพบวิธีที่ง่ายกว่านั้น เพียงแค่คบกับคนที่มีฐานะร่ำรวยกว่า โดยผลการศึกษาของ Raj Chetty นักเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด มีประเด็นที่น่าสนใจ ระบุว่าหากคุณอยากเป็นคนรวย ให้คบเพื่อนที่มีฐานะร่ำรวยตั้งแต่เด็ก และมีแนวโน้มที่เด็กคนนั้นจะมีเงินเดือนสูงกว่าคนในวัยเดียวกันเฉลี่ย 20% งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าการคบคนที่มีฐานะที่ร่ำรวยกว่าจะนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “ทุนทางสังคม” เพราะจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างเนื้อสร้างตัว ตลอดจนเรียนรู้กับคนที่อยู่เหนือกว่าในการเพิ่มช่องทาง หาโอกาสในชีวิตให้กับตัวเองแบบไม่สามารถหาได้ทั่วไป ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการที่ผู้ปกครองมักส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากภายในสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่มีฐานะ สร้างคอนเนคชันไปในตัวไว้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งการคบเพื่อนที่มีสถานะร่ำรวยกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะกลุ่มคนที่มีสถานะใกล้กันก็จะอาศัยในบริเวณเดียวกัน หรือจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะเข้าถึง ที่มา: businessinsider แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับsmartsmehttps://www.smartsme .co.th/content/247891

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาษี

[สรุปโพสต์เดียวจบ] ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565 มีอะไรบ้าง

30/04/2024

สิ้นปี 2565 กำลังมาถึง “เทศกาลจ่ายภาษี” ก็กำลังจะเริ่มต้น ในปีนี้ใครหลาย ๆ คนอาจจะพึ่งเคยเสียภาษีปีแรก หรือ ใครหลาย ๆ คนก็เสียภาษีมาหลายปีแล้ว ซึ่งปกติจะต้องยื่นภาษีก่อนวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไปนั่นก็คือ ปี 2566 พี่ทุยเลยมาอัพเดตว่าปีนี้เราสามารถเอาค่าใช้จ่ายส่วนไหนไปเป็น “ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565” ได้บ้าง เผื่อจะได้เอาไปวางแผนภาษีช่วงปลายปีนี้กัน  ภาษีและเงินได้คืออะไร? “ภาษี” คือ สิ่งที่ประชาชนที่มีรายได้ต้องเสีย เพื่อนำเงินไปสนับสนุนและพัฒนาประเทศของเรา โดยหากเราเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เงินเดือนปกติจะถูกเรียกว่าเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 40(1) (เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง) จะได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท  ส่วนใครที่ได้ค่าจ้างเป็นงาน ๆ หรือคอมมิชชันจะจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ 40(2) (เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ) จะได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และยังมีรายได้ประเภทอื่น ๆ ซึ่งหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ซึ่งอย่างน้อย ๆ เลยคนที่ต้องเสียภาษีจะต้อง “มีรายได้มากกว่า 310,000 บาท” เพราะ หากหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท และหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท เงินได้สุทธิหลังหักรายการต่างจะมากกว่า 150,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายการเสียภาษีที่ฐานภาษี 5% ซึ่งไทยมีฐานการเสียภาษีแบบขั้นบันได ดังนี้ค่าลดหย่อน คืออะไร? “ค่าลดหย่อน” เป็นสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่ทำให้เรา “เสียภาษีน้อยลง” เมื่อทำตามหรือเข้าเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ โดยเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้นั้นเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน และช่วยส่งเสริมประชาชนที่ดูแลตัวเอง ให้ได้รับภาษีคืนกลับไปบางส่วนอีกด้วย เราไปดูกันดีกว่าว่าปี 2565 นั้นมีอะไรที่รัฐสนับสนุนบ้าง ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565 มีอะไรบ้าง?ค่าลดหย่อนในปี 2565 พี่ทุยจะแบ่งหมวดให้เข้าใจง่ายเป็น 5 หมวด ดังนี้ หมวดลดหย่อนสำหรับตัวเอง หมวดแรกจะเป็นค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นจากตัว หรือ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ได้แก่ 1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว – 60,000 บาท เป็นอัตราเหมาว่าคน 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่อปีไม่น้อยกว่า 60,000 บาท โดยรัฐให้ค่าลดหย่อนส่วนนี้เป็นพื้นฐานสำหรับทุกคนที่มีรายได้ 2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส – 60,000 บาท สำหรับคนที่มีคู่สมรสก็เหมือนดูแลอีก 1 ชีวิต รัฐก็ให้เพิ่มเป็นอัตราเหมาขั้นต่ำไปอีก 60,000 บาท 3. ค่าลดหย่อนบุตร – 30,000 บาท สำหรับคนแรก และตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปได้คนละ 60,000 บาท เมื่อมีบุตรก็มีรายจ่ายตามมาพร้อมความสุข คนแรกอาจจะเบา ๆ หน่อยช่วย 30,000 บาท แต่ถ้ามีตั้งแต่คนที่สองคงเหนื่อยน่าดูรัฐเลยให้คนละ 60,000 ไปเลย ! 4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา – สำหรับคนที่ดูแลบิดามารดาอยู่แล้ว ยิ่งบิดามารดาไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท แถมอายุเกิน 60 ปีแล้วนั้น ถ้าครบตามเงื่อนไขนี้ ผู้ที่เลี้ยงดูบิดามารดาก็รับไปเลยคนละ 30,000 บาท แต่ต้องบอกบรรดาลูก ๆ ทั้งหลาย ว่าถ้ามีพี่น้องหลายคน ก็ใช้สิทธิได้คนเดียวนะ ถ้าปีนี้เราใช้สิทธิไป ปีหน้าเราให้สิทธิน้องก็ได้ เพราะคนละปีภาษีกัน 5. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ – 60,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ที่จิตใจดีดูแลคนพิการ หรือ ทุพพลภาพนั้น รัฐช่วยเหลือลดหย่อนรายได้ได้คนละ 60,000 บาทต่อปี 6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด – ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการฝากครรภ์และทำคลอด สามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ลดได้เฉพาะส่วนที่จ่ายจริงและไม่เกินท้องละ 60,000 บาทเท่านั้นนะ หมวดประกัน สำหรับ “ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565″ รัฐบาลก็สนับสนุนให้คนไทยมีการแบ่งเบาบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองด้วย คนที่ซื้อประกันก็จะได้สิทธิลดหย่อนไป โดยประกันที่สามารถลดหย่อนได้มีดังนี้ 1. ประกันชีวิตทั่วไปและประกันสะสมทรัพย์ – สูงสุด 100,000 บาท ตามที่จ่ายจริง ใครที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นรายได้หลักให้ที่บ้าน ประกันชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก หรือหากเลือกประกันสะสมทรัพย์นอกจากจะได้รับความคุ้มครองแล้วยังเป็น Force Saving อาจทำให้เรามีเงินเก็บก้อนโตในอนาคตอีกด้วย 2. ประกันสุขภาพบิดามารดา – สูงสุด 15,000 บาท  3. ประกันสุขภาพตัวเอง – สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท หมวดการเกษียณอายุ รัฐบาลสนับสนุนให้เราลงทุนในสิ่งเหล่านี้ เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตว่าจะมีเงินก้อนใหญ่พอ ที่จะใช้ดูแลตัวเองเมื่อเกษียณอายุ โดยการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นเมื่อรวมกับประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนที่เกินจะไม่ได้รับการลดหย่อน ยกเว้นเงินประกันสังคมที่ไม่ต้องรวมอยู่ในก้อน 500,000 บาท 1. ประกันชีวิตแบบบำนาญ – สูงสุด 200,000 บาท และต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 2. กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน – 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 เมื่อรวมหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณ 3. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF – 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 เมื่อรวมหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณ 4. กองทุนการออมแห่งชาติ กอช. – ไม่เกิน 13,200 ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 เมื่อรวมหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณ 5. กองทุนรวมเพื่อการออม SSF – 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 เมื่อรวมหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณ 6. เงินประกันสังคม – ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท  เงินบริจาค สำหรับใครที่อยากบริจาคก็สามารถนำมาลดหย่อนได้ โดยการบริจาคที่สามารถนำมาลดหย่อนได้มี 3 แบบ 1. บริจาคทั่วไป – 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว 2. บริจาคเพื่อการศีกษา กีฬา พัฒนาสังคม และ โรงพยาบาลรัฐ – 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว โดยบริจาคประเภทนี้จะได้สิทธิ 2 เท่า แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 10% หลังหักค่าลดหย่อน 3. เงินบริจาคพรรคการเมือง – สูงสุด 10,000 บาท เราสามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองโดยเงินส่วนนี้สามารถนำมาลดหย่อนได้เช่นกัน มาตรการรัฐ สำหรับ “ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565″ ในแต่ละปีรัฐบาลนั้นจะมีมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องต่าง ๆ โดยค่าใช้จ่ายในเรื่องที่กำหนดนั้นจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น 1. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย – สูงสุด 100,000 บาท เมื่อเราซื้อบ้านหรือคอนโดด้วยการผ่อนนั้นเราสามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารมาลดหย่อนได้ โดยสามารถลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้นไม่รวมเงินต้น โดยธนาคารจะมีใบสรุปส่งมาให้ทุกปีเพื่อนำหลักฐานไปยื่นกับสรรพากร 2. ช้อปดีมีคืน – เป็นโครงการเมื่อต้นปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2565 ที่ผู้ใช้จ่ายเงินสำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขาย หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ สามารถใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 30,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยหากซื้อสินค้าและบริการแล้ว แล้วได้รับส่วนลด ให้ลดหย่อนได้ตามราคาที่จ่ายจริง หลังหักส่วนลดแล้ว 3. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) – โดยคนที่ลงหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป สามารถนำเงินเงินลงทุนนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท โดยผู้ที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปลดหย่อนภาษี จะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินเพื่อจัดตั้งหรือ เพื่อเพิ่มทุนของธุรกิจที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของไทย ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อ สังคม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 และต้องแจ้งความประสงค์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรแล้ว เป็นยังไงกันบ้างสำหรับค่าลดหย่อนภาษี ใครมีรายจ่ายส่วนไหนที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ อย่าลืมเก็บมาให้ครบนะ เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน แต่สำหรับใครที่สงสัยหรือไม่แน่ใจเรื่องการคำรนวณภาษีหรือค่าลดหหย่อนต่าง ๆ แนะนำว่าสามารถโทรไปปรึกษาได้ที่ 1161 หรือสรรพากรในเขตพื้นที่ได้เลย แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับmoney buffalohttps://www.moneybuffalo.in.th/tax/what-are-the-tax-deductions

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสังคม

วิธีวางแผนซื้อประกันชีวิตต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ​

30/04/2024

จากบทความ “จะซื้อประกันชีวิตเจ้าไหนดี มีวิธีการเลือกอย่างไร” ได้กล่าวถึงประกันชีวิตทั้ง 5 แบบ และเมื่อกล่าวถึงแบบประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิตก็คือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แต่ก็มีคำถามคือเราจะทำทุนประกันชีวิตหรือความคุ้มครองเท่าไหร่ดีถึงจะพอ มี หลักพิจารณาอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบหลักการพิจารณาเลือกทุนให้เหมาะสมมี 5 ข้อดังนี้คือ1. ผู้รับผลประโยชน์เป็นใคร (เราต้องดูแลใครบ้าง)เมื่อผู้ทำประกันเกิดเหตุเสียชีวิตเงินสินไหมหรือเงินทุนประกันที่เราทำไว้ ผู้รับผลประโยชน์จะเป็นผู้ได้รับซึ่งในแต่ละกรมธรรม์ผู้รับประโยชน์นั้นมีมากกว่า 1 คนก็ได้ ในกรณีที่มีผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 1 คน จะแบ่งเป็นสัดส่วนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือทำกรมธรรม์แยกแต่ละผู้รับผลประโยชน์ก็ได้ เมื่อเรารู้แล้วว่าผู้รับผลประโยชน์เป็นใครก็จากนั้นเราก็มาพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายที่แต่ละผู้รับผลประโยชน์นั้นจะต้องใช้เท่าไหร่ไปอีกกี่ปี และนำของแต่ละคนมารวมกันตัวอย่าง ผู้รับผลประโยชน์เป็นแม่อายุ 70 และบุตรอายุ 15 ปีคาดว่าแม่จะมีอายุถึง 80 ปีคาดว่าใช้เงินกินอยู่อีก 10 ปี ปีละ 100,000 บาท ก็ทำทุนประกัน 10×100,000 = 1,000,000 บาทบุตร คาดว่าต้องใช้เงินในการศึกษาและกินอยู่อีก 7 ปี ปีละ 200,000 บาท จนถึงอายุ 22 คือเรียนจบ ก็ทำทุนประกัน 7×200,000 = 1,400,000 บาทสำหรับทุนประกันนี้คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต ค่ากินอยู่เท่านั้น ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพซึ่งควรวางแผนเป็นประกันสุขภาพให้แต่ละคนจะดีกว่า  •  หนี้สินที่เรามีอยู่เมื่อเราเสียชีวิตไปแล้วหนี้สินที่เรามีไม่ได้หายไปด้วย ซึ่งจะตกไปอยู่กับทายาท ดังนั้นการทำทุนประกันควรจะครอบคลุมหนี้สินที่เรามีด้วยเช่น หนี้กู้ซื้อบ้าน, หนี้กู้ซื้อรถ, หนี้สินอื่นๆ สำหรับหนี้กู้บ้านหรือกู้ซื้อรถ จะมีประกันชีวิตที่สามารถคุ้มครองสินเชื่อที่เรากู้มา เราสามารถซื้อเพิ่มได้ตอนยื่นกู้ได้เลย ในส่วนของหนี้สินอื่นๆที่ไม่มีประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ เราก็ต้องนำมาคิดเพิ่มเติมสำหรับทุนประกันที่เราทำด้วย  •  ค่าใช้จ่ายอื่นๆเมื่อเสียชีวิตค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ต้องใช้เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต เช่นค่าทำศพ  •  ทุนประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วเราต้องพิจารณากรมธรรม์ประกันชีวิตที่เรามีแล้วอยู่ว่ามีทุนประกันชีวิตอยู่เท่าไหร่  •  สินทรัพย์ที่เรามีอยู่ปัจจุบันสินทรัพย์ที่นำมาพิจารณาคือทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมด เช่น เงินสด, กองทุน, หุ้น, บ้าน, ที่ดิน, รถ สำหรับสินทรัพย์ที่ยังไม่ทราบมูลค่า เช่น บ้าน, ที่ดิน, รถ ให้นำราคาประเมินปัจจุบันมาคิดเมื่อได้ข้อมูลทั้ง 4 ข้อแล้วจากนั้นเราก็จะมาทำการคิดทุนประกันที่เหมาะสมคือ ข้อ1 + ข้อ2 + ข้อ3 – ข้อ4 -ข้อ5 ได้เท่าไหร่ ค่านั้นจะเป็นทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับผู้ทำประกันจากหลักการพิจารณาเลือกทุนประกันชีวิตให้เหมาะสมทั้ง 5 ข้อ นั้นเป็นวิธีการคิดเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างคือ ความพร้อมในการจ่ายเบี้ยของเรา เพราะถ้าเรารู้ทุนประกันที่เหมาะสมแล้วก็สามารถรู้เบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายได้ ซึ่งสามารถสอบถามได้จากตัวแทนหรือช่องทางอื่นๆ นำมาประเมินได้ว่าเราจ่ายไหวไหม ถ้าไม่ไหวอาจจะต้องมาพิจารณาลดทุนประกัน แต่ไม่ว่าเราจะทำเท่าไหร่การมีความคุ้มครองในกรณีที่เราเสียชีวิตมีความจำเป็นโดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของคนในครอบครัว เพื่อที่เมื่อเกิดหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น คนที่เรารักจะได้ไม่ลำบากและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับnoonhttps://www.noon.in.th/blog/how-to-select-the-right-sum-insured/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาษี

ธุรกิจต้องรู้ "บริจาค" แบบไหนประหยัดภาษี หักรายจ่ายได้สูงสุด 2 เท่า

30/04/2024

ทุกๆ ธุรกิจต่างก็ต้องเสียภาษี โดยหากวางแผนภาษีได้ดี ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น โดยรายจ่ายที่กิจการมักจะมองข้ามคือ "การบริจาค" ทราบหรือไม่ว่า การบริจาคบางประเภทสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุดถึง 2 เท่า แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน เมื่อมีรายได้ย่อมต้องเสียภาษี ซึ่งในระหว่างปีภาษีนั้นๆ เจ้าของกิจการที่จดบริษัทเป็น "นิติบุคคล" สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเสียภาษีได้ และรายจ่ายที่กิจการมักจะมองข้ามคือ “การบริจาค” ซึ่งในกรณีที่มีการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินในนามนิติบุคคลจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โดยเฉพาะการบริจาคบางประเภท สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุดถึง 2 เท่า แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดดังนี้   •  หลักการบริจาคพื้นฐานเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี สำหรับกิจการที่มีการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับหน่วยงานต่างๆ สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระทางภาษีได้ต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็น “กรณีทั่วไป” และ “กรณีพิเศษ” ดังนี้ 1.กรณีทั่วไป 1.1 หักได้ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ - บริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ ประกอบด้วย 1) วัด สภากาชาดไทย 2) สถานพยาบาล สถานศึกษาของราชการ 3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นที่ รมว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา - บริจาคเพื่อการสาธารณประโยชน์ - บริจาคให้กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ - บริจาคให้ 1) กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม 3) กองทุนคุ้มครองเด็ก - บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น - บริจาคให้กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม 1.2 หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ - บริจาคการศึกษา และการกีฬา - บริจาคให้กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 2.กรณีพิเศษ 2.1 หักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ - บริจาคให้สถานศึกษา ตามโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ - ค่าใช้จ่ายสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬาเอกชน - บริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา - รายจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งหรือสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก - บริจาคให้ 1) โครงการฝึกอบรมอาชีพ และกิจกรรมเกี่ยวกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็ก ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 2.2 หักได้ 1 เท่า ค่าใช้จ่ายที่จัดให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ   •  บริจาคให้สถานพยาบาลของทางราชการ บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคไป ทั้งที่จ่ายเป็นเงินสดและทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ใช้ทั่วไป ไม่มีการเก็บค่าบริการ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อ สาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้กับกิจการสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป   •  บริจาคเงินให้มูลนิธิผ่าน e-Donation หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ในส่วนของการบริจาคให้กับมูลนิธิ กิจการสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค หากทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่มูลนิธิ 3 แห่ง ดังนี้ 1. มูลนิธิชัยพัฒนา 2. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 3. มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมากจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยการบริจาคผ่านระบบ e-Donation จะสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้ เพราะเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพกากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวก   •  บริจาคเพื่อส่งเสริมการศึกษา หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า กิจการที่บริจาคเงินและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. นิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1.1 บริจาคในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ได้แก่ - สถานศึกษาตามโครงการพระราชดำริ - สถานศึกษาตามนโยบายที่จะระดมพลังเพื่อเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพ - สถานศึกษาที่รองรับพัฒนาเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ 1.2 บริจาคให้แก่สถานศึกษาตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด 1.3 บริจาคเพื่อการจัดหา หรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดินหรือที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางศึกษา 1.4 บริจาคเพื่อการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (กรณีบริจาคเป็นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์จะต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน) 1.5 ต้องมีหลักฐานจากสถานศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปนั้น เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ (มีใบเสร็จของสถานศึกษา) ​ หมายเหตุ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อใช้สิทธิตามมาตรานี้แล้ว จะต้องไม่นำเงินบริจาคดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษาอีก หมายเหตุ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ จะต้องไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น 2. กรณีนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬาของทางราชการหรือของเอกชนที่เปิดให้ริการเป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนด้านสันทนาการนี้ เมื่อไปรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของ กำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา โดยหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไป สรุป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลายช่องทางการบริจาค กิจการสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างน้อยที่สุดการบริจาคทุกๆ ครั้ง ถือเป็นการทำบุญช่วยให้จิตใจเบิกบาน มีแรงใจในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่ แถมได้โบนัสเป็นเงินเหลือจากการเสียภาษีน้อยลงอีกด้วย ----------------------------------- Source : Inflow Accounting แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจhttps://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1031413

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ไทยรั้งท้าย อันดับระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ปี 2022

30/04/2024

ผลสำรวจต่างประเทศเผย ไอซ์แลนด์ ระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ขณะที่ไทย อันดับระบบบำนาญรั้งท้าย แนะนำให้วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ดีที่สุด วันที่ 14 ตุลาคม 2565 บริษัท Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการสำรวจ Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ครั้งที่ 14 ซึ่งร่วมกับสถาบัน CFA Institute สถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ในการสำรวจคุณภาพของระบบบำนาญใน 44 ประเทศ ผลการสำรวจ เปิดเผยว่า ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยได้คะแนนที่ 84.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ A ขณะเดียวกัน ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ถูกจัดอันดับระบบบำนาญอยู่ในระดับ A อีก 2 ประเทศคือ เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) ได้คะแนนที่ 84.6 คะแนน และเดนมาร์ก (Denmark) ได้คะแนนที่ 82.0 คะแนน ขณะที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 44 ประเทศ โดยได้รับคะแนนที่ 41.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ D และเป็นอันดับสุดท้ายในระดับเอเชียอีกด้วย โดยสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับระบบบำนาญดีที่สุดในบรรดาประเทศทวีปเอเชีย (อันดับ 9 ของโลก ด้วยคะแนน 74.1 คะแนน) ผลการสำรวจมีการระบุถึงรูปแบบกองทุนบำนาญขององค์กรในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากกองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit-DB) เป็นกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution-DC) ซึ่งทำให้ผู้คนต้องวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณกันมากขึ้น Dr. David Knox Senior Partner ของ Mercer ระบุว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบเรื่องการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมดูแลอย่างดี การสำรวจ MCGPI เป็นการสำรวจเกี่ยวกับระบบบำนาญจาก 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรโลก เน้นข้อบกพร่องบางประการในแต่ละระบบ และแนะนำด้านที่เป็นไปได้ของการปฏิรูปที่จะช่วยให้สวัสดิการหลังเกษียณมีความเพียงพอและยั่งยืนมากขึ้น โดยสำรวจจาก 3 ด้านหลักคือ 1. ความเพียงพอของบำนาญ (Adequacy) ในแง่ทรัพย์สิน ผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ 2. ความยั่งยืนของระบบบำนาญหลังเกษียณ (Sustainability) โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะ 3. ความครบถ้วน มั่นคงของระบบ (Integrity) ตั้งแต่ระเบียบและข้อกฎหมาย ความคุ้มครอง และการสื่อสารต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1084399

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X