คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ข่าวการเงิน

ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ใครได้ ใครเสีย ?

30/04/2024

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทออกมาอยู่บ่อยครั้ง และมักมีคำถามอยู่เป็นระยะว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลอย่างไรกับคนไทย อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร เมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศ แต่ใช้สกุลเงินต่างกัน ประเทศคู่ค้าต้องทำการกำหนด “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างเงินสองสกุล ซึ่งการเทียบเงินสกุลที่ต่างกันนี้ไม่ได้เปรียบเทียบจากขนาดของประเทศหรือขนาดเศรษฐกิจ แต่จะเปรียบเทียบจาก “อำนาจซื้อที่แท้จริง” ของเงินสกุลนั้น ๆ ในการซื้อสินค้าหรือบริการ ค่าเงินแข็ง/อ่อน คืออะไร อัตราแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเท่าเดิมเสมอไป อาจแพงขึ้นหรือถูกลงก็ได้ หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่าค่าเงินแข็งหรืออ่อน ยกตัวอย่าง “ค่าเงินบาทแข็ง” หมายถึง เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น หากเมื่อวานนี้ใช้เงิน 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 28 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เงินบาทมีค่ามากขึ้นหรือ “แพงขึ้น” เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่า “ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ” ส่วน “ค่าเงินบาทอ่อนลง” ก็มีลักษณะตรงข้าม คือ เงินบาทมีค่าน้อยลงหรือ “ถูกลง” เช่น เมื่อวานใช้เงิน 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์นี้เรียกว่า “ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ” สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินแข็ง/อ่อน เงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าที่ราคาขึ้นลงจากกลไกตลาด หรือกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเงินตราของแต่ละประเทศ เช่น กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย เงินบาทก็จะแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ในทางกลับกันหากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยเอาเงินบาทมาขาย เงินบาทก็จะถูกลง (อ่อนค่าลง) ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1194038

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ทำไมคนฉลาดพอดี คือคนที่มีโอกาสรวยมากสุด ?

30/04/2024

เราเคยสงสัยไหมว่า คนที่มีโอกาสรวยสุดๆ คือ คนที่ฉลาดกลางๆ ... ฉลาดแบบพอดี พอดี เพราะคนที่เก่งเกินจะมองแต่ความเสี่ยง จนไม่กล้าทำอะไร  ในขณะที่คนที่ไม่รู้ ก็มักจะเสี่ยงเกิน จนสุดท้ายเจ๊งจนลุกไม่ขึ้น การเก่งกลางๆ คือ การใช้ความรู้ บวกกับความกล้าพอดีๆ นั่นแหละ คนที่จะรวยที่สุด แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับstock2morrow https://stock2morrow.com/article/5223

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

เปิดเทคนิค "7 ข้อควรรู้ก่อนลงทุนหุ้นกู้"

30/04/2024

“หุ้นกู้” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการระดมทุนที่สำคัญทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจำนวนมาก บางคนอาจไม่เคยลงทุนและมีคำถามมากมาย จึงขอสรุปออกมาเป็น “7 ข้อสำคัญ” ที่ผู้ลงทุนสนใจลงทุนหุ้นกู้ควรรู้และควรเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุน สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้มาก่อน หากสนใจลงทุนอาจมีคำถามว่า ควรเตรียมตัวอย่างไร และจะต้องพิจารณาอะไรก่อนที่จะลงทุน รวมถึงเมื่อได้ลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นกู้แล้วจะต้องมีการติดตามและใช้สิทธิของตนเองอย่างไร จึงขอสรุปออกมาเป็น “7 ข้อสำคัญ” ที่ผู้ลงทุนสนใจลงทุนหุ้นกู้ควรรู้และควรเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุน 1. เตรียมตัวอย่างไรก่อนที่จะตัดสินใจในการลงทุนในหุ้นกู้ “หุ้นกู้” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการระดมทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้มาก่อน หากสนใจลงทุนอาจมีคำถามว่า ควรเตรียมตัวอย่างไร ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ผู้ลงทุนควรต้องศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลของหุ้นกู้นั้น ๆ โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จากจากหนังสือชี้ชวน แบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และงบการเงิน เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของหุ้นกู้ว่าบริษัทผู้ออกเป็นใคร อยู่ในอุตสาหกรรมใด หุ้นกู้ที่จะลงทุนมีลักษณะอย่างไร มีอายุและอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร มีหลักประกันหรือไม่ เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือไม่ เงินที่ระดมทุนได้จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด รวมถึงผู้ออกมีสถานะทางการเงินและอันดับความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองกับหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวได้ สามารถคลิกดูข้อมูลได้ที่ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing หรือ แอปพลิเคชัน SEC Bond Check 2. ควรพิจารณาความเสี่ยงใดบ้างอะไรก่อนที่จะลงทุนในหุ้นกู้ (1) ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เช่น อาจไม่ได้รับชำระดอกเบี้ย หรือเงินต้นคืน ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกไม่เป็นไปตามที่คาด เป็นต้น (2) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เช่น ไม่สามารถขายหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนครบกำหนด เนื่องจากการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นกู้ในตลาดรองอาจมีไม่มาก หรือบางตัวแทบจะไม่มีสภาพคล่องเลยในตลาดรอง (3) ความเสี่ยงด้านราคา ในกรณีที่มีการขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดการไถ่ถอน อาจไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอายุของหุ้นกู้ เป็นต้น 3. เครื่องมือหรือปัจจัยที่ช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงของหุ้นกู้ในเบื้องต้นมีอะไรบ้าง   ผู้ลงทุนแต่ละคนอาจมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน โดยเครื่องมือหรือปัจจัยที่จะช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงของหุ้นกู้ในเบื้องต้น ได้แก่ (1) อันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) : โดยหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ดีหรืออยู่ในระดับ investment grade จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าในระดับ investment grade ลงมาหรือหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า แต่ก็มีการให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วย เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (2) ประเภทของหุ้นกู้ : เนื่องจากหุ้นกู้แต่ละประเภทอาจมีความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งมีสิทธิในการได้รับชำระหนี้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) ที่ไม่มีครบกำหนดไถ่ถอนและอาจต้องถือครองไปตลอดชีวิต รวมถึงตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีเงื่อนไขแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ลดมูลค่า หรือ ปลดหนี้ได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาลักษณะของหุ้นกู้ว่าเหมาะกับลักษณะการลงทุนของตนเองหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน (3) การประกอบธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ : นอกจากการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือและประเภทของหุ้นกู้แล้ว ผู้ลงทุนเองก็ควรที่จะพิจารณาในเรื่องการประกอบธุรกิจของผู้ออกด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การพิจารณาว่าผู้ออกประกอบธุรกิจอะไร ธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ที่มีแนวโน้มเป็นอย่างไรในอนาคต ธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงในเรื่องอะไร รวมถึงผู้ออกได้มีการออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการอะไรหรือทำอะไร (4) ปัจจัยประกอบอื่น ๆ เช่น หุ้นกู้ดังกล่าวมีหลักประกันหรือไม่ มีอายุหุ้นเท่าไร รวมถึงหุ้นกู้รุ่นดังกล่าวมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หรือไม่ เป็นต้น 4. ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้คือใคร และมีหน้าที่อะไร “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” เป็นเหมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ในแต่ละรุ่น ที่มีหน้าที่ติดตามให้ผู้ออกหุ้นกู้ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิหรือข้อตกลงระหว่างผู้ออกกับผู้ลงทุน โดยหากเกิดกรณีที่บริษัทผู้ออกไม่ชำระหนี้หรือผิดข้อกำหนดสิทธิอื่น ๆ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็จะมีหน้าที่เรียกร้องให้บริษัทผู้ออกชี้แจงและแก้ไข เรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุนด้วย 5. เมื่อได้ลงทุนไปแล้ว ผู้ลงทุนควรมีการติดตามอย่างไร ผู้ลงทุนควรจะต้องติดตามข้อมูลของบริษัทผู้ออกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องผลการดำเนินงาน งบการเงิน การปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ และการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ายังคงอยู่ในขอบเขตที่รับได้หรือไม่ หรือมีโอกาสที่บริษัทผู้ออกจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ โดยหากพิจารณาแล้วมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะรับได้อาจพิจารณาขายในตลาดรอง อีกทั้งหากพบว่าผู้ออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ หรือเกิดเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ ผู้ลงทุนควรสอบถามหรือแจ้งให้ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทราบ เพื่อให้ดำเนินการติดตามแก้ไขและรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน 6. การใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ในการขอขยายอายุหุ้นกู้ ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้เล็งเห็นว่าบริษัทอาจยังไม่สามารถชำระคืนหนี้หุ้นได้ อาจมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น ในขั้นตอนนี้ผู้ลงทุนควรใช้สิทธิในการซักถามผู้ออกหรือ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ โดยควรครอบคลุมในประเด็นดังนี้ (1) สาเหตุของการไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ตามกำหนดเดิมได้ ข้อเสนอและเงื่อนไขในการขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น (2) แผนการจัดหาแหล่งเงินเพื่อการชำระคืนหนี้ ระยะเวลาการดำเนินการ ความเป็นไปได้ของแผนที่วางไว้ และความเพียงพอที่จะรองรับการชำระหนี้ (3) ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบของการลงมติในแต่ละทางเลือก (4) ขั้นตอนการดำเนินการตามข้อกำหนดสิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทผู้ออกผู้ออกตราสารหนี้ชำระหนี้ทั้งหมด กรณีที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ลงมติไม่อนุมัติ 7. เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ผู้ลงทุนจะต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อเกิดกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน บังคับชำระหนี้ให้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย รวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” อาจจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ควรต้องใช้สิทธิเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วย ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมถึงใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจ และจัดสรรเงินในการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ โดย ทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ***************************************** หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ https://www.posttoday.com/business/stockholder/689280

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

5 นิสัยของเหล่ามหาเศรษฐีที่คุณควรทำตาม

30/04/2024

ใครๆ ก็อยากจะเป็นเศรษฐีกัน คุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายต่อหลายครั้งที่เรานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนิสัยของบรรดาคนร่ำรวยทั้งหลาย แต่บางเรื่องก็ดูจะไกลเกินไปที่จะทำตาม เพราะดูเหมือนว่าต้นทุนของพวกเขามีมากกว่า หรือที่หลายคนมักจะบอกว่าพวกเขาไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่สิ่งที่เรานำมาฝากกันวันนี้เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ ขอเพียงตั้งใจจริง นี่คือนิสัยที่คุณควรจะทำตาม 5 นิสัยเศรษฐีที่คุณควรทำตาม 1. ขับรถมือสอง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนิสัยข้อนี้อ้างอิงจากหนังสือ The Millionaire Next Door โดย Thomas Stanley ที่บอกว่าคนรวยมักจะใช้รถยนต์ที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าคุณซื้อรถใหม่ราคาของมันจะสูงมาก และทำให้เกิดหนี้สินระยะยาวถ้าคุณไม่ได้ซื้อมันด้วยเงินสด แต่ถ้าเป็นรถมือสองราคาของมันจะถูกลงมากมาย และมันจะถูกจนอยู่ในระดับที่คุณสามารถซื้อมันได้ด้วยเงินสด งานนี้ได้ของดีแถมยังไม่ต้องมีหนี้สินระยะยาว 2. สร้างรายได้จากช่องทางที่หลากหลาย นิสัยข้อนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด การเพิ่มรายได้ของคุณในช่องทางที่หลากหลายนั้น ยุคสมัยนี้เป็นอะไรที่สามารถทำได้ง่ายมาก รายได้จากการเขียน e-book, blog และบทความ เป็นงานที่คุณทำได้หลังจากเลิกงานประจำ นี่ยังไม่รวมอาชีพอิสระอย่างการขับ Uber และการเป็น Coach ให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ ด้วยการสร้างช่องทางรายได้ที่หลากหลายคุณไม่เพียงทำให้คุณสร้างรายได้พิเศษเท่านั้น แต่คุณยังสามารถปกป้องตัวเองได้หากมีบางสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับรายได้หลักของคุณ 3. ให้เงินออมทำงานให้คุณ เรื่องนี้มีการพูดถึงบ่อยมาก แต่ก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน วิธีที่ง่ายที่สุดในเรื่องนี้ก็คืออย่างน้อยที่สุดก็ให้เงินออมของคุณอยู่ในบัญชีที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุด และโปรดจำเอาไว้ว่านี่คือเงินออม มีเอาไว้เพื่อสะสมไม่ใช่เงินเพื่อการลงทุน เมื่อเวลาผ่านไปเงินออมของคุณจะเติบโตขึ้นจนน่าตกใจ 4. ใช้ชีวิตให้เหมาะกับตัวเอง เรื่องนี้สำคัญ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้ชีวิตให้เหมือนกับคนอื่นมากกว่า การเดินทางไปต่างประเทศ นอนในที่พักหรูๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนม เที่ยวผับชื่อดังทุกสุดสัปดาห์ ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่สามารถทำให้คุณเข้าใกล้การเป็นเศรษฐีได้เลย เลือกสิ่งที่เหมาะกับคุณในสิ่งที่คุณเป็นอยู่ตอนนี้ แล้วคุณจะเข้าใกล้คำว่า “เศรษฐี” เร็วขึ้น 5. กำหนดเป้าหมายการออมที่สมจริง นิสัยเศรษฐีที่เหมือนกันทั่วโลกก็คือรักการออม ดังนั้นการกำหนดเป้าการออมที่สมจริงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าคุณมียังมีโครงการเกี่ยวกับหนี้สินระยะยาวอย่าง การผ่อนบ้าน การผ่านรถ ก็ยากที่ทำให้เป้าการออมของคุณเป็นจริงได้ ข้อแนะนำในเรื่องนี้ก็คือให้ตัดเรื่องของหนี้สินระยะยาวออกไปให้หมด ก่อนที่จะเริ่มทำการออมอย่างจริงจัง หากคุณทำตามนิสัยทั้ง 5 ข้อนี้ และทำอย่างจริงจังมีวินัยมากพอ เชื่อว่าในเวลาอีกไม่นานทุกอย่างจะต้องออกดอกออกผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐีก็มีนิสัยดีๆ ไว้ให้ทำการเลียนแบบ อยู่ที่เราเลือกว่าจะเอานิสัยแบบไหนมาใช้ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับsmartsme https://www.smartsme.co.th/content/249238

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสังคม

7 เหตุผล ของการเลือกซื้อประกันบำนาญ

30/04/2024

คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงินผู้เขียน : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS)ในปัจจุบันประกันชีวิตนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ต่างก็เป็นประกันที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกัน แต่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินคำว่าประกันบำนาญ ซึ่งเป็นประกันที่มีไว้เพื่อช่วยวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ โดยในวันนี้จะมาอธิบาย 7 เหตุผลที่ควรจะเลือกซื้อประกันบำนาญ มีดังนี้1. พันธบัตรดอกเบี้ยสูง ๆ ในสมัยก่อนที่บริษัทประกันเคยเก็บสะสมเอาไว้จะเริ่มหมดไป ส่วนดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลตอนนี้ตกลงมาต่ำกว่า 2% แล้ว ทำให้คาดเดาได้ว่าในอนาคตจะต้องมีการเพิ่มเบี้ยประกันสูงขึ้นอย่างน้อย 10-20% อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในยุคดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ เบี้ยประกันที่ได้รับเข้ามาจะไม่สามารถนำไปลงทุนงอกเงยอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ต้องเก็บเบี้ยประกันในแต่ละปีที่สูงขึ้น2. เปลี่ยนเงินก้อนจาก active income ในวันนี้ ให้กลายเป็น passive income ในอนาคต ด้วยผลตอบแทนที่การันตี (ปัจจุบัน ประกันบำนาญทุกประเทศเป็นแบบที่การันตีผลประโยชน์เงินคืนอยู่) ซึ่งก็เหมือนกับพันธบัตร แต่สิ่งที่ประกันบำนาญทำได้มากกว่านั้นก็คือ การล็อกอัตราผลตอบแทนในตอนที่ซื้อประกันบำนาญไปจนถึงอายุ 80-90 ปี ซึ่งไม่มีพันธบัตรไหนในประเทศไทยที่ยาวถึงขนาดนี้ จะมีก็แต่ประกันบำนาญเท่านั้น3. ซื้อไปแล้วจะถอนเงินคืนออกมาเมื่อไรก็ได้ (เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีให้ดีก่อน) หรือจะใช้สิทธิเงินกู้ตามกรมธรรม์ก็ได้ ซึ่งมีสภาพคล่องที่ได้เปรียบกว่า RMF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ต้องรอจนถึงอายุ 55 ปี4. ถ้าเราออมเงินในเงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้ หรือพวกตราสารหนี้ต่าง ๆ ที่ให้ดอกเบี้ยการันตีแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ได้รับมาจะต้องนำมาคำนวณเสียภาษีด้วย ซึ่งปกติจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ที่ 15% (สมมติว่า ออมเงิน 100 บาท ได้ดอกเบี้ยมา 4 บาท จะต้องเสียภาษี 15% บน 4 บาท ที่ได้มาด้วย ทำให้เหลือดอกเบี้ยสุทธิ 3.40 บาท) แต่การซื้อประกันบำนาญจะไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้5. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท เป็นของแถม (ศึกษารายละเอียดว่าแบบประกันบำนาญไหนที่เข้าข่ายลดหย่อนภาษีได้) ถ้าใครฐานภาษี 20% ก็เท่ากับเหมือนได้ลดเบี้ยไป 20% เป็นการจูงใจการออมที่น่าสนใจมาก6. ตลาดพันธบัตรในอนาคตยังคงดอกเบี้ยต่ำ เหมือนญี่ปุ่นที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี แล้วอัตราดอกเบี้ยไม่เคยสูงขึ้น นับวันมีแต่น้อยลงจนติดลบไปแล้ว ซึ่งถ้า
เวลาผ่านไปอีก 20 ปี แล้วพันธบัตรในประเทศไทยคงไม่สามารถกลับมาให้ดอกเบี้ยได้สูงดังเดิมอีกต่อไป7. การถือประกันบำนาญเป็นการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน โดยถ้าคิดง่าย ๆ อาจจะคิดว่ามันเหมือนเป็นพันธบัตรชนิดหนึ่งที่ไม่เสียภาษีสุดท้ายนี้ การวางแผนการเกษียณสำหรับคนไทยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่จังหวะในการเลือกซื้อแบบประกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อตัดสินใจจ่ายเบี้ยประกันในปีแรกแล้วก็ควรจะจ่ายต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบหมด จึงจะคุ้มที่สุด โดยเฉพาะแบบประกันบางตัวที่เมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว ถ้าใครถือเอาไว้จนถึงตอนนี้ก็ยังได้ผลตอบแทนการันตีเฉลี่ยเกิน 5% ต่อปีกันถ้วนหน้า นอนกอด passive income กันสบายจนถึงตอนนี้แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1185271

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ลงทุนเพื่อการเกษียณ เริ่มได้ ไม่รอ ไม่ง้อตัวช่วย

30/04/2024

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth 24Hrs เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการลงทุนในปีนี้แล้วนะครับ ใครที่ยังจัดพอร์ตไม่ลงตัว ละล้าละลัง เพราะตัดสินใจไม่ถูกหรือรอหาจังหวะลงทุน จนเสียเวลาไปโดยใช่เหตุครับ บางคนขอรอดูฤกษ์ดีค่อยเข้าลงทุน เพื่อหวังให้พอร์ตเฮงๆ รวยๆ รองรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างชิลๆ เริ่มต้นวางแผนการเงิน ‘ฤกษ์ดี คือ เลิกรอ’ ยิ่งลงทุนช้า เสียโอกาสได้กำไร เพราะ ‘การวางแผนการเงิน’ เป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าอยากมีชีวิตที่มั่นคงในอนาคต ทุกวันนี้ มีเครื่องมือรองรับการวางแผนทางการเงินมากมายไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือกองทุนรวม ในแต่ละทางเลือกล้วนเป็นสิ่งที่คุณควรทำความเข้าใจ เพราะนอกจากจะทำให้ชีวิตคุณมีหลักประกันด้านการเงินที่มั่นคงแล้ว ยังช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะมีเงินพอใช้ในยามเกษียณอายุด้วย นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะหมดปีเก่า 2565 แล้วนะครับ หากใครที่มัวแต่หาจังหวะลงทุน ลังเล และไม่ตัดสินใจซักที นั่นแปลว่าคุณกำลังปล่อยเวลาทิ้งไปอย่างน่าเสียดายครับ สำหรับผมแล้ว ‘ฤกษ์ดี คือ เลิกรอ’ ครับ เพราะทุกนาทีที่คุณยังลังเลล้วนมีต้นทุนค่าเสียโอกาส หากคุณอยากรู้ว่า คุณเสียโอกาส จริงหรือไม่? ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ จากตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ดัชนี SET 50 ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2565 ปรับตัวขึ้นมา +0.31% สวนตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกที่ดัชนีไหลลง โดยดัชนี MSCI World ลดลง -15.81% ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามลงหนักสุด ดัชนี VNI -30.03% ตามด้วยดัชนี NASDAQ ติดลบ 26.7% และตลาดหุ้นจีน ดัชนี CSI300 -22.01% ใครที่มาลงทุนตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปี คุณจะต้องซื้อในราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว เพราะคุณไม่ได้ทยอยลงทุนตั้งแต่ต้นปี ก็ถือว่า ได้เสียโอกาสทำกำไรจากตลาดหุ้นไทยไปแล้วครับ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเริ่มลงทุนในวันนี้ก็ยังไม่สายครับ เพราะวันข้างหน้าไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือตลาดหุ้นจะไปแรงหรือลงแรง แต่การจัดพอร์ตให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะฉะนั้น การวางแผนลงทุนจัดพอร์ตของคุณแบบ ‘ฉลาดเลือก’ จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายสร้างพอร์ตเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ครับ เงินต่อเงิน ค้นหาทางเลือก ‘จัดพอร์ต’ ที่ใช่สำหรับคุณ และหนึ่งในการวางแผนลงทุนที่คุณต้องใส่ใจ คือ เมื่อกองทุน LTF ที่ถืออยู่และครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว เงินก้อนนี้ ควรทำอย่างไรต่อดี ผมมีคำตอบให้ครับ ที่ผ่านมาคุณลงทุนกองทุน LTF นอกจากหวังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ก็ยังทำให้คุณมีเงินเก็บเป็นก้อนสะสม และเพื่อสร้างความมั่งคั่งต่อไปในระยะยาว ผมแนะนำให้เดินหน้า ‘เงินต่อเงิน’ ครับ ช่องทางทำเงินลงทุนก้อนนี้ให้งอกเงยต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไปได้ ซึ่งมี 2 แนวทางหลัก คือ แนวทางแรก หากคุณยังมั่นใจในสินทรัพย์เดิมที่ลงทุน ก็สามารถลงทุนต่อไปได้ครับ แนวทางที่สอง ถ้าต้องการหาสินทรัพย์ใหม่ๆ หวังเพิ่มโอกาสบริหารความมั่งคั่งได้ดีขึ้น คุณก็ขาย LTF ที่ครบกำหนด และหาสินทรัพย์อื่นๆ ลงทุนต่อ หรือ Reinvestment ซึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็มีทางเลือกลงทุนรูปแบบต่างๆ ให้ลูกค้า ได้แก่ รูปแบบกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งมีให้เลือกลงทุนที่หลากหลายและเป็นการลงทุนระยะยาวขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ. จะให้บริการ อย่างผมมีจัดทางเลือกให้ลูกค้าที่หลากหลาย มีทั้งกองทุน ETF ที่ให้เลือกลงทุนได้ทั้งลงทุนตราสารหนี้ Thematic จะลงทุนตัวหุ้นก็ มี Jitta Ranking ให้เข้ามาเลือกช้อปกันครับ หรือจะเป็นรูปแบบกองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนให้เลือกมากมายหลากหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ก็มีกองทุน SSF กองทุน RMF หรือจะลงทุนตรงในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือบางคนอยากเอามาโปะหนี้ก้อนโต ก็สามารถทำได้ เมื่อชีวิตปลดหนี้แล้วก็อย่าลืมกลับมาเริ่มสะสมอีกครั้ง ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการวางแผนชีวิตของตัวคุณเอง มีอีกคำถามที่น่าสนใจมากๆ คือ ระหว่างลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีและกองทุนส่วนบุคคล การลงทุนไหนมีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน? ผมเลยหาคำตอบมาให้ครับ ทีมงาน Jitta Wealth ได้เปรียบเทียบกับการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนอิงดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่าง SET Total Return Index (SET TRI) กับแผนลงทุน Jitta Ranking หุ้นไทยว่า มีรายละเอียดการลงทุนที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุน SSF และนโยบาย Jitta Ranking มีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขและคุณสมบัติพิเศษที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง กองทุน SSF จะมีสิทธิพิเศษมากกว่ากองทุนรวมทั่วไป เพราะกรมสรรพากรให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF ในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ และค่าลดหย่อนภาษีส่วนการลงทุนแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท กองทุน SSF มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย มีสินทรัพย์เกือบทุกประเภทให้เลือกลงทุน ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีเต็ม (นับแบบวันชนวัน) หากไถ่ถอนก่อนครบกำหนด คุณจะต้องจ่ายภาษีที่ได้ลดหย่อนไปคืนให้กับรัฐ แต่คุณไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีต่อเนื่องทุกปีก็ได้ ส่วนนโยบาย Jitta Ranking ของ Jitta Wealth เป็นกองทุนส่วนบุคคลที่ใช้ AI คัดสรรหุ้นรายตัว เน้นเฟ้นหา ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม มีโอกาสการเติบโต’ ตามหลักการของนักลงทุนในตำนานโลก ‘Warren Buffett’ มาจัดพอร์ต พร้อมปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติทุก 3 เดือน หากพอร์ตได้รับเงินปันผล ระบบอัลกอริทึมก็จะนำเงินปันผลกลับไปลงทุนในหุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สูงๆ ทั้งหุ้นในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไป โดยลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไปเพื่อสร้างโอกาสทำผลตอบแทนให้ดีที่สุด ผมขอย้ำว่า ทั้ง 2 กองทุนเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนระยะยาว สำหรับกองทุน SSF คุณต้องมีเป้าหมายการลงทุนอย่างน้อย 10 ปีและต้องการลดหย่อนภาษี แต่สำหรับ Jitta Ranking จะเป็นการลงทุนที่ยืดหยุ่นกว่า เพราะคุณสามารถเพิ่มหรือถอนทุนได้ตามต้องการ แม้จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีก็ตาม คุณน่าจะพอเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างของการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบแล้ว มาดูประเด็นไฮไลท์ว่า ระหว่าง 2 กองทุนนี้ ‘แบบไหนที่จะสร้างผลตอบแทนมากที่สุด?’ โดยทีมงานผมได้ทำแบบจำลองการลงทุนย้อนหลัง 10 ปีขึ้นมา 3 กรณี ถ้าลงทุนแบบเดียวกันเป๊ะในทั้ง 2 กองทุน ทางเลือกไหนจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากันเมื่อผ่านไป 10 ปี กรณีที่ 1 สมมติให้นาย A และนาย B มีสถานะโสด มีเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท และสมมติให้ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามปกติและไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ส่วนนาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกันและมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี คือ SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET Total Return Index (SET TRI) เพื่อลดหย่อนภาษีด้วยเงิน 180,000 บาท (คำนวณตามสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งปี) และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 320,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 15,550 บาทมาลงทุนในกองทุน SSF กองเดิมในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนอีกเลยใน 10 ปี ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 515,550 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท เวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,133,553.93 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต Jitta Ranking หุ้นไทยอยู่ที่ 2,508,634.93 บาท คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,375,081 บาท กรณีที่ 2 สมมติให้นาย A และนาย B สถานะโสด มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 100,000 บาทและไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามอัตราปกติ และไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ขณะที่นาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกัน และมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเงิน 200,000 บาท (เม็ดเงินลงทุนได้ไม่เกิน 200,000 บาท) และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 300,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 41,550 บาทมาลงทุนในกองทุน SSF กองเดิมต่อในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนเลย ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 541,550 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,174,619 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต 2,508,634.93 บาท จากการลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,334,015.93 บาท กรณีที่ 3 สมมติให้นาย A และนาย B สถานะโสด มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 150,000 บาทและไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งคู่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามอัตราปกติ และไม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยนาย A ลงทุนในกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษี ขณะที่นาย B ลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย โดยเริ่มลงทุนในปีเดียวกัน และมีระยะเวลาลงทุน 10 ปีเท่ากัน สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเงิน 200,000 บาท และกองทุนรวมอิงดัชนี SET TRI เพิ่มเติมอีก 300,000 บาทในปี 2555 และนำเงินที่ประหยัดภาษีได้ 50,000 บาทมาลงทุนซ้ำในกองทุน SSF กองเดิมต่อในปี 2556 ขณะที่นาย B ลงทุนแผน Jitta Ranking หุ้นไทยตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาทและไม่เพิ่มทุนเลย ดังนั้น นาย A จะมีเงินลงทุนรวม 550,000 บาท ขณะที่นาย B มีเงินลงทุนรวม 500,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าพอร์ตของนาย A จะอยู่ที่ 1,187,965.15 บาทจากการลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนตามดัชนี SET TRI ขณะที่นาย B จะมีเงินในพอร์ต 2,508,634.93 บาท จากการลงทุนในแผน Jitta Ranking หุ้นไทย คุณจะเห็นว่านาย B มีมูลค่าพอร์ตสูงกว่านาย A อยู่ถึง 1,320,669.78 บาท จากทั้ง 3 ตัวอย่าง ไม่ว่าระดับเงินเดือนของคุณจะเป็น 50,000 บาท 100,000 บาท 150,000 บาท การลงทุนในแผน Jitta Ranking ล้วนทำผลตอบแทนชนะกองทุน SSF ได้ประมาณ 1 เท่าตัวทั้งนั้น แน่นอนว่า การลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี ข้อดี คือ ช่วยลดหย่อนภาษีที่คุณต้องจ่ายในแต่ละปี แต่ถ้าคุณต้องลดหย่อนภาษีทุกปี คุณก็ต้องลงทุน SSF ทุกปีด้วยเช่นกัน และห้ามถอนเงินลงทุนแต่ละก้อนอย่างน้อย 10 ปีด้วย ซึ่งถ้าคุณอยากมีวินัยในการออม กองทุน SSF ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีครับ ส่วนนโยบายแผน Jitta Ranking ก็มีหลากหลายแผนให้คุณเลือกทั้งประเทศ อุตสาหกรรมที่สนใจ โดยมีกระบวนการ AI ดำเนินการให้ตามที่กล่าวข้างต้น แม้ผมจะบอกว่า Jitta Ranking เหมาะสำหรับลงทุนระยะยาว 3-5 ปี แต่ว่าไม่มีการผูกมัดว่าต้องถืออย่างต่ำ 10 ปีเหมือนกองทุน SSF เพราะฉะนั้น คุณจะได้อิสระเพิ่มทุนหรือถอนทุนได้ตลอดเวลา พร้อมกับพิสูจน์ผลตอบแทนย้อนหลังแล้วว่า สามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า ดัชนี SET TRI ที่มีกรอบเวลาลงทุน 10 ปีด้วย ตัวอย่างที่ยกมานี้ น่าจะพอทำให้คุณเข้าใจและตอบคำถามตัวเองได้ว่าการลงทุนแบบไหนจะตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของคุณมากกว่ากัน หรือหากคุณมีเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถวางแผนการเงินแบบจัดพอร์ตกระจายลงทุนให้บาลานซ์ ขอเพียง ‘ฉลาดเลือก’ ก็จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้คุณมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นได้ครับ  แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางลงทุนแบบไหน ผมขอให้คุณทำความเข้าใจให้มากๆ ก่อนเริ่มลงทุนนะครับ เพราะยาที่ดีคือยาที่ตรงกับโรค แต่ถ้าคุณเลือกยาผิด ยาที่ดีก็กลายเป็นยาพิษได้ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เพราะการลงทุนที่ดีไม่ใช่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และเป้าหมายในชีวิตคุณด้วย อย่าลืมนะครับ ลงทุนเร็ว ยิ่งมีอิสระทางการเงินที่เร็ว คุณก็จะมีโอกาสเกษียณได้เร็วครับ ผมขอถือโอกาสนี้กล่าวอำลาปีเก่าปีเสือเผ่นที่กำลังผ่านไป และสวัสดีต้อนรับปีใหม่ที่ปีกระต่ายที่กำลังเข้ามา พร้อมกับความหวังอันเรืองรองที่รออยู่ในข้างหน้านะครับ “ขอให้โชคดีมีความสุขกับการลงทุนในแบบฉบับที่ทำให้คุณนอนหลับอย่างสบายใจครับ” แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1157321

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ถ้าคุณคิดว่าคุณรวย อ่านตรงนี้ | บัณฑิต นิจถาวร

30/04/2024

มีแฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ถามมาว่าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่ดูวุ่นวาย เราควรลงทุนอย่างไร เพราะความไม่แน่นอนมีมาก ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่ในต่างประเทศด้วย อยากฟังความเห็นของผม ผมเองไม่ใช่นักลงทุนที่เก่ง แต่ก็เป็นคําถามที่ท้าทายและหลายคนคงอยากรู้ว่าผมจะตอบอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่รวยมากๆ มีรายได้เข้ามาตลอด คงอยากรู้เหมือนกันว่าควรเอาเงินไปทำอะไรเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้ การลงทุนกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นต่อเพื่อลดเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของดอกเบี้ยจะกระทบผลตอบแทนที่ได้จากการถือครองเงินสด กระทบราคาหุ้น ราคาพันธบัตร ซึ่งทั้งหมดคือสินทรัพย์ทางการเงิน แต่นอกจากสินทรัพย์การเงิน เราก็มีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นที่นักลงทุนที่มีเงินมากชอบลงทุน เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโดยตรงในธุรกิจ คือการเข้าซื้อ บริหารและเป็นเจ้าของธุรกิจ ส่วนที่ดีคือผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางเลือกจะไม่อิงกับความผันผวนในตลาดการเงิน แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การเติบโตของธุรกิจ ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าตลาดมาก ปีนี้ที่การลงทุนดูยาก ความไม่แน่นอนมีมาก และใช้เวลานานในการตัดสินใจ ก็เพราะหลายอย่างได้เปลี่ยนไปและปีนี้จะเป็นปีเริ่มต้นของหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิม สำคัญสุดคือโลกเศรษฐกิจจากนี้ไปจะเป็นโลกเศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่ผ่านมา แม้ธนาคารกลางสหรัฐต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อกลับมาที่ระดับเป้าหมายที่สองเปอร์เซนต์แต่คงยาก ส่วนหนึ่งเพราะดิสรัปชันจากภูมิศาสตร์การเมืองและความไม่แน่นอนที่จะมีต่อเนื่อง ทําให้อัตราเงินเฟ้อจะลงยาก และอาจยืนระยะเฉลี่ยประมาณ 3-5 เปอร์เซนต์ต่อปีจากนี้ไป ดังนั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนแท้จริงที่เป็นบวก ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็จะต้องสูงกว่าที่ผ่านมามาก ผลักดันให้นักลงทุนต้องถือความเสี่ยงมากขึ้นโดยปริยาย คือเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทําให้การถือครองเงินสดให้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม ทําให้การลงทุนที่ใช้เงินกู้ (leverage) มีต้นทุนสูงขึ้น สภาพคล่องจะไม่พรั่งพรูเหมือนก่อนขณะเดียวกันความไม่แน่นอนที่มากับภูมิศาสตร์การเมืองก็ทำให้นักลงทุนยิ่งต้องระวังเพราะมีโอกาสที่ตลาดการเงินจะผันผวนมาก ทั้งหมดจะเปลี่ยนวิธีคิดในการลงทุนจากเดิมที่เน้นการเติบโตและ leverage เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ มาเป็นการลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน การสร้างมูลค่า และให้ความสําคัญกับความสามารถในการบริหารจัดการ ในบริบทเช่นนี้ ถ้าถามว่าการลงทุนปีนี้มีทางเลือกอะไรบ้าง ผมคิดว่ามีสามทางเลือกที่นักลงทุนอาจพิจารณาขึ้นอยู่ว่ากระเป๋าคุณหนักแค่ไหน หนึ่ง สำหรับคนเงินน้อย เป็นเงินออมหรือเงินเกษียณเป็นหลัก การลงทุนในสินทรัพย์การเงินก็คงเป็นทางเลือกเดียว คําถามคือจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือเงินสด คําตอบขึ้นอยู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป ซึ่งปัจจุบันเป็นขาขึ้น และจากนั้นถ้าอัตราเงินเฟ้อปักหัวลงชัดเจน การปรับขึ้นของดอกเบี้ยคงชะลอและคงหยุดในที่สุด แต่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ราคาพันธบัตรและราคาหุ้นคงไม่ขึ้นและอาจปรับลง ดังนั้นในทิศทางตลาดดังกล่าว นำ้หนักการถือสินทรัพย์จะปรับจากการถือเงินสด ไปสู่พันธบัตรคุณภาพสูง และไปสู่หุ้นที่จะเป็นการเข้าซื้อหลังตลาดได้ปรับตัวต่อผลของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ที่ยากคือ timing หรือเงื่อนเวลาที่จะปรับย้ายพอร์ตระหว่างเงินสด พันธบัตรกับหุ้น ว่าควรทำเมื่อไรและในสัดส่วนเท่าไร ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สอง ถ้าเงินลงทุนมีมาก และตลาดการเงินมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากความไม่แน่นอนที่มีมากเช่นในปีนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ลงทุนโดยตรงในธุรกิจก็น่าสนใจเพราะผลตอบแทนจะเป็นอิสระคือไม่ถูกกระทบโดยความผันผวนในตลาดการเงิน และถ้าสามารถเลือกสาขาธุรกิจที่จะลงทุนได้ถูกต้อง โอกาสที่จะเบ่งให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดก็สามารถทําได้ ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจที่สินค้ากําลังอยู่ในความต้องการของตลาดทั่วโลกเช่น อาหาร หรือ เทคโนโลยีอาหาร หรือธุรกิจที่มีพลังในการตั้งราคา คือสามารถปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่กระทบอุปสงค์ของสิ่งที่ผลิต หรือธุรกิจที่มีพื้นฐานดีและสามารถต่อยอดตามความต้องการและแรงสนับสนุนของผู้บริโภคได้เช่นเรื่อง ความยั่งยืน และภาวะโลกร้อน แต่ที่ทุกธุรกิจต้องมีเหมือนกันคือความสามารถในการบริหารจัดการ ที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดสาม อสังหาริมทรัพย์เป็นอีกสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ ถ้ามีเงินที่ต้องลงทุนมาก เพราะผลตอบแทนไม่อิงกับตลาดการเงินเช่นกัน ขณะที่ความต้องการพื้นฐานมีต่อเนื่อง ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการเป็นทรัพย์สินสำหรับการออมระยะยาวที่คนชั้นกลางชอบและต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างให้เกิดพลังในการตั้งราคา และผลตอบแทนที่แตกต่างและสูงกว่าตลาดก็สามารถทําให้เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของการบริหาร ความทุ่มเท และความรักความชอบในสิ่งที่ทําโดยเจ้าของโครงการและทีมบริหาร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแม้ระดับเจ้าสัวของประเทศที่ชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ นี่คือข้อคิดของผม เป็นความเห็นและคําตอบให้กับแฟนคอลัมน์ที่ถามมา ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล bandid.n@ppgg.foundation แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1049230

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ผลตอบแทนสูง 3 เดือน 15 ล้าน จุดอ่อนความโลภ ทำให้คนตาบอด ถูกหลอกลงทุน

30/04/2024

ขอย้ำอีกครั้งธุรกิจลงทุนน้อยให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว แบบรวยทางลัดราวกับธุรกิจมหัศจรรย์ไม่มีอยู่จริง หากมีใครมาเชิญชวนกระตุ้นความอยาก สะกิดต่อมความโลภให้ร่วมขบวนความร่ำรวย ผ่านหลายช่องทาง โดยเฉพาะการสร้างกระแสในโลกโซเชียลมีการเล่าเรื่องราวถึงความยากจนข้นแค้นแทบไม่มีข้าวกิน กัดฟันสู้ชีวิตในอดีต จนประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีอายุน้อย 100 ล้าน มีการถ่ายรูปคู่กับเงินปึกใหญ่ๆ โชว์ให้เห็นการใช้ชีวิตหรูหราดั่งกับในนิยาย มีรถสปอร์ตสุดหรูขับ และถ่ายรูปคู่กับคนดังอย่างสนิทสนม ขอให้พึงตระหนัก อย่าเอาเงินก้อนโตมาแลกกับความเสี่ยง อย่างเรื่องของหญิงสาวรายหนึ่งกำลังเป็นกระแส ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความร่ำรวยผิดปกติ และมีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ หลังออกมาเชิญชวนลงทุน อ้างว่าเพียงแค่ 3 เดือนได้เงินหลักสิบล้าน จนตกเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน การหลอกลวงคนให้มาลงทุน ในลักษณะการสร้างสตอรี่เรื่องราวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้นในสังคมไทย ทำให้ “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ต้องออกมาเตือนสติคนไทยด้วยความเป็นห่วง และเท่าที่สังเกตพบว่า มีการหลอกลวงโดยอาศัยความน่าเชื่อถือ แสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคมด้วยการสร้างเรื่องราว เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการทำงานน้อย แต่ได้เงินเยอะๆ ให้เหมือนกับคนที่ออกมาชักชวนให้ลงทุน จากคนที่เคยสิ้นเนื้อประดาตัว แต่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ “อยากให้คนไทยมีสติและให้ใช้ปัญญา ซึ่งก็เข้าใจว่าอยากรวย ตามรูปแบบวิธีการที่ออกมาเชื้อเชิญให้ลงทุน ด้วยเพราะปัจจุบันผู้คนในสังคมมีคุณธรรมน้อยลง จนทำให้บางคนต้องไปกู้เงินมาลงทุน จะต้องมีสติให้มากขึ้น คอยติดตามข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา เพราะคนดีจะไม่ทำอย่างนี้ในการหลอกลวงคน” ตามทฤษฎีอาชญาวิทยาเรียกคนพวกนี้ว่า “คอปกขาว” เช่น  หลอกลวงลงทุนแชร์ลูกโซ่ เทรดค่าเงิน หรือลงทุนสกุลเงินดิจิทัล โดยคนมีความรู้ มีสถานภาพน่าเชื่อถือในสังคม มาหลอกลวงคนไทยด้วยกันเองเป็นหลักร้อยหลายพัน ซึ่งแตกต่างกับโจรข้างถนน หรือ Street Thief มีการวิ่งราวชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และบางคนเมื่อมีความรู้มากขึ้น จะมีการเรียนรู้นำวิธีการมาก่อเหตุ เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ และพฤติกรรมการหลอกลวงคนให้มาลงทุน จะไม่หายไปจากสังคม ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ และไม่มีคุณธรรม เป็นสิ่งที่น่าห่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หากสังคมไม่เน้นในเรื่องความดีงาม เน้นแต่ความร่ำรวย ซึ่งบางคนทำได้จริง แต่หลายคนไม่สามารถไปได้ และยอมรับความร่ำรวย ความหรูหรา จนทำให้เกิดความหลงใหลอยากจะร่ำรวยตาม และกรณีล่าสุดเป็นการหลอกคนทั่วไปให้ลงทุน เพราะไม่สามารถชี้แจงและตอบได้ในการลงทุนให้ได้ 15 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 เดือน “ในเรื่องกำไรผลประกอบการในช่วง 5 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท หากสามารถทำได้จริง 15 ล้านบาทใน 3 เดือน ก็ควรทำเองจะดีกว่า ไม่ต้องชักชวนใครมาลงทุน และอาศัยการสร้างเรื่องราวเคยสิ้นเนื้อประดาตัวมาก่อน และสร้างสตอรี่ถ่ายรูปกับรถหรู อยากให้คนไทยใช้ปัญญาใช้สติให้มากๆ ในการพิจารณา อีกทั้งในช่วง 2-3 ปี ต้องยอมรับโควิด ทำให้คนมีปัญหาเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากๆ และยังไปหลอกลวงคนให้ลงทุน จนหมดเนื้อหมดตัว ถูกซ้ำเติมผีซ้ำด้ำพลอย” แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2608250

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสังคม

8 ข้อคิดก่อนปฏิเสธการทำประกันชีวิต

30/04/2024

1. ประกันชีวิตเปรียบเหมือนผ้าห่มแห่งความรัก ผ้าห่มผืนสุดท้ายที่แม่หม่ายสามารถจะใช้เพื่อจะได้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวแห่งชีวิต2. คนซื้อประกันไม่ใช่เพราะใครบางคนต้องตาย แต่เพราะใครบางคนต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป3. คุณจะได้รับการจดจำจากครอบครัวของคุณว่า คุณเป็นคนวิเศษสุด ซึ่งทิ้งความมั่นคงทางการเงินไว้ให้ หรือไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เลย เมื่อคุณต้องจากไป และรับรองว่าไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหนก็ตาม…พวกเขาจะไม่มีวันลืมคุณอย่างแน่นอน4. หากคุณเจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นมา และมีแหล่งรายได้อยู่สี่แหล่ง สำคัญให้ครอบครัวของคุณ… จากญาติ , เพื่อน , จากสถานสงเคราะห์ และ จากประกัน คุณชอบแหล่งไหนมากกว่ากัน ?5. ความสามารถในการหารายได้ของคุณเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด…เมื่อเป็นเช่นนั้น มันสมควรจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่6. ทุกคนมีประกันอยู่แล้ว แต่ทางเลือก คือ คุณต้องการรับประกันตัวเองหรือรับประกันจากมืออาชีพ7. เมื่อวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ชายคนหนึ่งสามารถทิ้งไว้ให้กับภรรยา ก็คือ ศักดิ์ศรีแห่งการมีทางเลือกเท่านั้น8. เหลือบางสิ่งบางอย่างไว้ให้กับภรรยาของคุณ เพื่อที่จะดูแลเธอ ไม่ใช่บางอย่างที่เธอจะต้องดูแลต่อไปแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับideaforumgrouphttps://ideaforumgroup.wordpress.com/insurance/8-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%98%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%9B/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ความเสี่ยง จุดเปราะบางคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชันใด น่าห่วง เมื่อแก่ตัวลง

30/04/2024

•  คนวัยทำงานในช่วงกอบโกยเงินทองอย่าชะล่าใจ ต้องนึกถึงตัวเองรู้จักเก็บออม ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม เพื่อการใช้ชีวิตในอนาคตเมื่อสู่วัยสูงอายุ ไม่ให้เผชิญกับความยากลำบาก เพราะจากสถานการณ์การเตรียมพร้อมของคนรุ่นใหม่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในการสำรวจปี 2564 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 18-59 ปี จำนวน 1,734 คน ทราบว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว   •  แสดงให้เห็นว่าประมาณ 1ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน อาจยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การสูงวัยของสังคมไทย และ 1 ใน 5 ยังไม่ได้เตรียมตัวด้านสุขภาพเลย โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z อายุ 18-26 ปี คิดว่าตัวเองสุขภาพดีเพียง 57.6% เท่านั้น ต่ำกว่าเจน X กลุ่มอายุ 42-59 ปี และ เจน Y กลุ่มอายุ 27-41 ปี แม้พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพมีทุกรุ่นทุกอายุ แต่กลุ่มเจน Y และ Z มีพฤติกรรมชอบกินอาหารรสจัด พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ หลายคนนอกดึก เพราะดูซีรีย์ หรือเล่นเกม   •  มาดูเรื่องการเก็บออม กลุ่มเจน Z ออมแบบฝากธนาคารและเงินสด มากกว่าเจน X และ Y ซึ่งออมในรูปแบบประกันชีวิต กองทุนรวม กองทุนชุมชน หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่า ขณะที่การสร้างครอบครัวไม่ใช่เป้าหมายของคนรุ่นใหม่ จึงไม่นิยมมีลูก โดยเจน Y และ Z ต้องการพึ่งพารัฐ หรือสถานสงเคราะห์ เพื่อให้ดูแลในช่วงท้ายของชีวิต สูงกว่าเจน X เมื่อช่วงท้ายของชีวิตในวัยสูงอายุไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องสุขภาพที่เสื่อมถอย อาจต้องนอนติดเตียง หรือไม่สามารถสื่อสารได้ เป็นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนา ทุกคนจึงมีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียง เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้าย หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 โดยพบว่าส่วนใหญ่ทุกรุ่นอายุ ไม่ต้องการเป็นภาระให้ครอบครัว ไม่ต้องการยื้อชีวิตหากอยู่ในภาวะโคม่า และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเอกสารแสดงเจตนา หรือชีวเจตน์ เพื่อวางแผนวิธีการรักษาพยาบาลล่วงหน้า หรือยุติการรักษา เป็นบทสรุปคร่าวๆ ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุของคนรุ่นใหม่ หรือคนวัยทำงาน นำไปสู่คำถามว่าน่าห่วงหรือไม่? ก็ได้คำตอบจาก ”รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีทั้งกลุ่มน่าห่วงและน่าจะเอาตัวรอดได้ โดยด้านการเงินในการดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แบ่งเป็น 3 แหล่ง 1.จากการพึ่งตัวเอง 2. ภาครัฐ ซึ่งมีระบบการคุ้มครองทางสังคม และ 3. คนในครอบครัว ในการพึ่งครอบครัว ดูเหมือนค่อนข้างจะแน่นอนในยุคก่อนๆ แต่เมื่อคนยุคปัจจุบันแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง ทำให้เห็นได้ชัดว่าการจะหวังพึ่งครอบครัว ให้ลูกหลานดูแลลดลงอย่างแน่นอน และการพึ่งภาครัฐ ก็มีการส่งเสริมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีค่อนข้างน้อย หรือแม้ประกันสังคม จะขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แต่เรื่องความเสี่ยงก็มีมาก เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้การจ่ายเงินกรณีชราภาพ อาจไม่เพียงพอกลุ่มเจน X เจน Y หรือเจน Z น่าห่วงมากกว่ากัน เมื่อประเมินการพึ่งตัวเองในเรื่องการออมเงินและการลงทุน จากข้อมูลสถานการณ์เตรียมพร้อมของคนรุ่นใหม่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญในการออม แต่ยังค่อนข้างต่ำท่ามกลางเงินเฟ้อขยับขึ้นสูง ขณะเดียวกันการลงทุน แม้มีความมั่นคงในการลงทุน แต่ก็ยังขาดทักษะ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นห่วง แต่หากยังสามารถทำงานได้ในวัยสูงอายุก็ดี “ในส่วนสวัสดิการภาครัฐ ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่อยากให้ขยับเบี้ยยังชีพแบบก้าวกระโดดไปถึง 3 พันบาท เพราะจะกระทบภาระทางการคลัง ดังนั้นแนวทางในการเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรให้ความสำคัญกับการพึ่งตัวเองด้วยการออม ทั้งกลุ่มเจน X เจน Y เจน Z โดยเฉพาะเจน Z นอกจากออมเงินแล้ว ก็มีการลงทุน ด้วยการลงทุนบิตคอยน์ ซึ่งค่อนข้างเสี่ยง เพราะมีเป้าหมายอยากเกษียณอายุเมื่ออายุ 45-50 ปี” การพึ่งตัวเองสำคัญมาก แต่ตลาดการลงทุนต้องมีความปลอดภัยมากขึ้น และหน่วยงานของรัฐต้องมีการจัดการความเสี่ยง ควบคู่กับการคุ้มครองทางสังคมและมีระบบบำนาญ ต้องขยายให้ทั่วถึงมากที่สุดให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำอาชีพอิสระกันมากขึ้น เป็นโจทย์ใหญ่ต้องสานต่อ ทั้งตัวบุคคลเองและภาครัฐ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะมองอนาคตของตัวเอง และให้ความสำคัญมากขึ้น ในการจัดการเรื่องการเงิน และจัดการความเสี่ยง ซึ่งภาครัฐต้องโฟกัสไปตลาดการลงทุน ไม่ให้โตเองโดยธรรมชาติ ควรมีการกำกับดูแลให้ชัดเจน กลุ่มเจน Z ก็น่าห่วง แต่อายุยังไม่มากยังมีเวลาเตรียมตัว แต่กลุ่มเจน X มีเวลาน้อยในการเตรียมตัวไม่ให้มีความเสี่ยงมากพอ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง เพราะยังมีสัดส่วนมากพอสมควรในการแต่งงานและมีลูก แม้ทำงานมีรายได้สูง แต่ก็มีภาระทั้ง 2 ฝั่งในการเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมถึงลูกของตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้ต้องเตรียมตัวให้กับตัวเอง และยังคิดว่าเมื่อแก่ตัวลงจะมีลูกคอยดูแล แต่อาจตรงกันข้ามกับลูกๆ ที่คิดว่ามีพ่อแม่คอยดูแลให้การสนับสนุนโควิดกระทบคนรายได้น้อย ยิ่งเพิ่มความเปราะบาง “ทัศนคติการมีครอบครัวของเด็กรุ่นใหม่จะลดลงแน่ๆ อาจทำให้ความคิดเปลี่ยนไป และเชื่อว่ากลุ่มเจน X ตอนปลาย แม้มีลูก แต่อาจมีความคิดเปลี่ยนไปในการคิดถึงตัวเองมากขึ้น และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจนใด หากมีงานทำมีรายได้ ก็ไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มวัยทำงานมีรายได้น้อย มีความเปราะบางมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มยากจนที่ได้รับผลกระทบ ยังมีกลุ่มใกล้ยากจน มีโอกาสสูงที่จะอยู่ภายใต้ความยากจน ซึ่งมีความเปราะบางค่อนข้างสูง รวมถึงคนทำกิจการเล็กๆ ต้องปิดกิจการไป” ในช่วงโควิด มีแรงงานเป็นจำนวนมากอายุ 45 ปีขึ้นไป ตกงานจากการเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ซึ่งกลุ่มนี้มีความยากลำบากจะกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงาน หรือการจะเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ก็ยากลำบาก อาจกลายเป็นกลุ่มที่พึ่งภาครัฐมากขึ้น และหลังวิกฤติโควิดยังมีประเด็นปัญหาตามมาอีกมากมาย ยิ่งเพิ่มความเปราะบางมากขึ้น และการที่รัฐจะดูแลผู้สูงวัยและผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับภาระทางการคลังว่าสามารถทำได้ครอบคลุมหรือไม่อีกทั้งกองทุนประกันสังคม ก็มีความเปราะบางในการจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ประเมินว่า 10-20 ปี อาจมีเงินไม่พอจ่ายในกรณีชราภาพ สุดท้ายต้องพึ่งตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่หากพ่อแม่เกิดในยุคเบบี้บูม ส่วนใหญ่ทำงานเพื่อซื้อทรัพย์สินให้กับลูก กลายเป็นสินทรัพย์สร้างแหล่งรายได้ในอนาคตให้กับลูก และเมื่อลูกเข้าสู่วัยสูงอายุ อาจนำสินทรัพย์ที่ได้มา เช่น บ้าน มาดูแลตัวเองเมื่อไม่มีลูกดูแล หรืออาจใช้วิธีขายบ้านล่วงหน้าให้กับธนาคาร ซึ่งเรียกว่า Reverse Mortgage หรือการจำนองแบบย้อนกลับ เหมือนในต่างประเทศ โดยสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ และทางธนาคารต้องจ่ายเงินค่างวดทุกๆ เดือน จนกว่าจะเสียชีวิต และธนาคารก็ได้บ้านนำเอาไปขายทอดตลาด ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายนี้ เพื่อช่วยเหลือและเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ. ผู้เขียน : ปูรณิมา แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2607421

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X